บ้านภู:แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมผู้ไท
บ้านภู ตั้งบนเนินเตี้ยๆ รายล้อมด้วยภูสลับซับซ้อน อยู่ห่างจากตัวอำเภอหนองสูงแค่ขับรถไม่เกิน 10 นาที และไกลจากตัวจังหวัดมุกดาหารประมาณ 57 กิโลเมตร บ้านเรือนในหมู่บ้านปลูกอาศัยกันเป็นกลุ่มตามถนนคอนกรีต 5 สายหลักทอดยาวแยกซอยเป็นตาข่ายเชื่อมโยงให้ติดต่อกันได้ทั่วถึงสะดวกสบาย ถัดจากเนินที่ตั้งหมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบลุ่มเชิงภู มีลำห้วยกระเบียนเป็นแม่น้ำสายสำคัญสำหรับทำนาและเพาะปลูกพืชผักเกษตร โดยทำนาข้าวเหนียวเก็บไว้กิน ส่วนข้าวเจ้าเพื่อขาย
ชื่อหมู่บ้านภู บ่งบอกลักษณะที่ตั้งชุมชนอยู่กับธรรมชาติป่าภู คำว่า “ภู” เป็นคำท้องถิ่นอีสานหมายถึง “ภูเขา” เมื่อจินตภาพย่อมนึกสัมผัสถึงพื้นที่แวดล้อมด้วยภูมิอากาศเย็นสดชื่น บริสุทธิ์แทบวัดหาค่า PM 25 น้อยมาก ซึ่งคนเมืองต่างถิ่นท่องเที่ยวต้องการไปให้ถึง โอบรับ สูดดึงเข้าเต็มปอด
พื้นเพวัฒนธรรมชุมชนบ้านภู เป็นชาว “ผู้ไท” ตามประวัติศาสตร์สังคมในช่วงรัชกาลที่ 3 ยกทัพทำศึกสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ อาณาจักรเวียงจันทร์ เมื่อไทยชนะศึกชาวผู้ไทถูกกวาดต้อนระลอกใหญ่มาจากเมืองวังและคำอ้อคำเขียว แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ลุยข้ามแม่น้ำโขง แล้วลงหลักปักฐานตั้งบ้านเรือนอยู่ฝังไทยถิ่นอีสาน 9 จังหวัดในสกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย อำนาจเจริญ อุดรธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด โดยกระจายตัวเป็นชุมชนผู้ไทเกือบ 500 หมู่บ้าน ซึ่งบ้านภู อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร เป็นหนึ่งในชุมชนเหล่านั้น
รับรู้กันว่า ชาวผู้ไทเป็นกลุ่มชนมีวิถีชีวิตเรียบง่าย มากความขยัน รู้จักอดออม เอื้ออารี ถ่ายทอดสืบสาน ต่อยอด ผลิตซ้ำวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น มีลักษณะเด่นในด้านถักทอผ้า ดังนั้นเสื้อผ้าสวมใส่ฟ้อนรำจึงเป็นเครื่องหมายสะท้อนถึงเอกลักษณ์ชุมชน และกลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวซื้อเก็บเป็นที่ระลึก
วูบแรกยามมาถึงชุมชนผู้ไท จะเห็นผู้หญิงวัยกลางคนตอนปลายเกล้าผมยาวเป็นมวยสูงตั้งตรง ใช้ผ้ามนหรือแพรมนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ผูกมวยผมไว้ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าโดดเด่นยืนเรียงแถวยิ้มเบิกบาน ผู้หญิงผู้ไทใส่ผ้าซิ่นตีนต่อมีชายขอบแถบแดง ทอเป็นหมี่สาดย้อมครามจนเกือบเป็นสีดำ มีลวดลายหมี่ปลา หมี่ตุ้ม หมี่กระจัง หมี่ข้อแทรกขั้นสวยงาม ตัวเสื้อติดกระดุมธรรมดา กรุมเงิน หรือเหรียญสตางค์ มีผ้าห่มผืนเล็ก เรียกว่า “ผ้าจ่อง” ไว้ห่มกันหนาว หรือคลุมไหล่ทับเสื้อที่ปล่อยแขนเป็นสามส่วนเพื่อสะดวกต่อการแสดงฟ้อนรำในงานบุญเทศกาลพื้นถิ่นหรือต้อนรับแขกบ้านต่างเมืองมาเยื่อน ส่วนผู้ชายใส่เสื้อผ้าผ่ากลางอก นุ่งโสร่ง หรือกางเกงม่อฮ่อม เอวคาดผ้าขาวม้าและพันผ้าที่ศรีษะเป็นเครื่องหมายการแต่งกายประจำถิ่น
เมื่อขบวนต้อนรับคล้องพวงมาลัยดอกไม้ในชุมชน และแห่กลองตุ้มพานักท่องเที่ยวไปสู่ลานวัฒนธรรมกลางหมู่บ้าน กิจกรรมท่องเที่ยวจึงเกิดขึ้น เริ่มฟังบรรยายสรุปข้อมูลชุมชน ชี้แจงกฎข้อห้ามการปฏิบัติตัวของผู้ที่มาท่องเที่ยว ได้แก่ ห้ามส่งเสียงดังหลัง 22.00–05.00 น. ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ห้ามทำในสิ่งที่เป็นการล่วงเกินผู้หญิงในหมู่บ้าน เช่น การจับมือ ต้องร่วม/ชม กิจกรรมที่ชุมชนจัด แลกเปลี่ยน เรียนรู้วิถีชีวิตเชิงสร้างสรรค์ ไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มสุราและยาเสพติด
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนต้นแบบในแต่ละห้วงเวลาดำรงชีพ ทานอาหารพาแลง บายศรีสู่ขวัญ ชมแสดงศิลปะพื้นบ้าน นันทนาการ ทำบุญใส่บาตรตอนเช้า และพักค้างคืนโฮมสเตย์ที่เจ้าบ้านจัดไว้ต้อนรับ ซึ่งมีประมาณ 61 หลัง รวมทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติเชื่อมโยงแหล่งใกล้เคียงได้แก่ ถ้ำจำปาภูผากูด เจดีย์ชัยมงคล วัดภูถ้ำโสม เจดีย์หลวงปู่เหล้า เขมปัตโต เป็นต้น อีกทั้งเที่ยวชมกุฏิเก่า
จุดเด่นขึ้นชื่อกับการท่องเที่ยวบ้านภูคือ “อนุรักษ์วัฒนธรรม สัมผัสวิถีชีวิต ใกล้ชิดธรรมชาติ จัดการโดยชุมชนคนบ้านเฮา” ต้องขีดเส้นใต้ในกระบวนจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพราะจะได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของชุมชน ผ่านการใช้โครงสร้างกรรมการหมู่บ้านมาแบ่งหน้าที่จัดการ 6 ฝ่าย คือ ฝ่ายแม่ครัว ฝ่ายปฏิคม ฝ่ายการเงินและบัญชี ฝ่ายดนตรี ฝ่ายการแสดง และฝ่ายบริหารจัดการ
รวมทั้ง บทบาทคนชุมชนยังถูกจัดแบ่งงานให้ตามถนัด และความเหมาะสมในกิจกรรมแหล่งเรียนรู้ 6 ฐานได้เป็นผู้ถ่ายทอดภูมิรู้ตามวิถีชุมชน ประกอบด้วย ฐานลดรายจ่าย ฐานเพิ่มรายได้ ฐานประหยัดอดออม ฐานเรียนรู้ ฐานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฐานเอื้ออารี ซึ่งบริหารจัดการคือ ให้นักท่องเที่ยวแบ่งกลุ่มเข้าไปศึกษาในแต่ละฐาน ในจำนวนที่เหมาะสมที่สุดคือประมาณฐานละ 50 คน
บ้านภู เป็นชุมชนที่มีความสามัคคีปรองดอง ให้ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้านอย่างพร้อมเพียงเป็นทุนสังคม ดังนั้นในการจัดการคนสำหรับการท่องเที่ยวจึงไม่เป็นอุปสรรคใด ไม่มีปัญหาในการแบ่งปันรายได้ โดยแบ่งให้กับคนมาช่วยงานและเหลือหักแบ่งเข้าวัด ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน การแบ่งเงินเข้าส่วนกลางจะกระทำต่อเมื่อหักค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ เช่น ผลตอบแทนชาวบ้าน ค่าอาหาร เมื่อมียอดเงินเหลือจึงนำเข้าส่วนกลาง ทั้งนี้กรรมการและชาวบ้านจะร่วมกันจัดสรรปันส่วนกันเองตามความเหมาะสม แม้บางครั้งแบ่งแล้วบางคนได้เงินแค่ 4 บาท แต่ยังยิ้มรับด้วยความภูมิใจ
พ่อถวัลย์ ผิวขำ ผู้นำที่เป็นเสาหลักของชุมชน บอกถึงรอยยิ้มอันภูมิใจที่ได้จากการบริการท่องเที่ยวว่า ทุกคนคิดว่าการได้ออกมาทำอะไรร่วมกัน การพบปะพูดคุยกับนักท่องเที่ยว การแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอัตลักษณ์ วิถีชุมชน และวัฒนธรรมภูไท นั่นคือสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้
“ณ เวลานี้ รอยยิ้มที่ได้รับบ่งบอกว่าทุกคนที่ออกจากบ้านด้วยเครื่องแต่งกายเต็มยศ มาเพื่ออะไร ที่นี้ ไม่มีคำว่าสมาชิก เพราะคนในชุมชนบ้านภูทุกคน คือเจ้าของ”
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านภู กว่ามาถึงความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับรางวัลระดับประเทศมากมายนั้น ล้วนผ่านการล้มเหลวของคนรุ่นบุกเบิกการท่องเที่ยวอย่างพ่อถวัลย์ ผิวขำ ซึ่งพยายามต่อยอดโครงการ“กินข้าว เซาเฮือนในบ้านแฝด” โดยเริ่มทำโฮมสเตย์ในหมู่บ้าน แต่ไปไม่รอด เพราะไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจของผู้คนหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาพัก
ถัดมาความหวังก่อร่างสร้างฐานชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ทอประกายขึ้น เมื่อปี 2547-2548 อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาทำการวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของชาวภูไทบ้านภู จนส่งผลให้ชาวบ้านตื่นตัวเห็นความสำคัญของประเพณี และวัฒนธรรมของตนเองที่ปฏิบัติกันมาสามารถนำมาปรับให้เป็นสินค้าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้
จากนั้นวัฒนธรรมผู้ไทที่ติดตัวบรรพบุรุษข้ามพรมแดนรัฐชาติเข้าสู่ไทย ซึ่งได้รับสืบสาน ผลิตซ้ำในแวดวงท้องถิ่นชุมชนกลายเป็นทุนสังคมยกระดับสร้างเป็น“หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข” พร้อมกับได้รับการส่งเสริมให้ก้าวเดินตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจศีลธรรม ไม่เน้นรายได้ นั่นจึงไม่แปลกเลยว่า เมื่อสมาชิกชุมชนได้รับส่วนแบ่งรายได้เพียง 4 บาท ยังยิ้มเป็นสุขกับการได้บริการท่องเที่ยว
ชื่อเสียงบ้านภูกับรอยยิ้มถ้วนหน้าแผ่กระจายเป็นวงกว้าง สื่อมวลชนเข้าพื้นที่ทำรายงานเผยแพร่ หลายหน่วยงานจัดหมู่คณะมาดูงาน ศึกษากระบวนการจัดการ ยิ่งเพิ่มเติมชื่อเสียงเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้น กระทั่งมีความสำเร็จเป็นรูปธรรมผ่านรางวัลหมู่บ้านโฮมสเตย์ต้นแบบ รางวัลหมู่บ้านพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ รางวัลหมู่บ้านจัดการท่องเที่ยงวัฒนธรรมต้นแบบ และเป็นต้นแบบอีกหลากหลาย โดยเฉพาะต้นแบบวิถีชีวิตชุมชนเต็มสุข
ในวิกฤตโควิด-19 ระบาด บ้านภูเป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องได้รับการปกป้องไม่ให้เสี่ยงกับการรับเชื้อจากโรคร้ายนี้ ขณะเดียวกันต้องทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจได้ว่า มาเที่ยวแล้วไม่ติดเชื้อร้ายโควิดกลับไปเช่นกัน
ดังนั้น ในปี 2563 มูลนิธิสัมมาชีพ จึงเข้าดำเนินโครงการ “ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนไทยวิถีใหม่ ด้วยมาตรฐานการบริการ” โดยความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท่องเที่ยวบ้านภู มีองค์ความรู้/ทักษะ การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีความพร้อม และสร้างความเชื่อมั่น ในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ด้วยการจัดแนวทางความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA)
และนั่นแปลความได้ว่า SHA จะเป็นเครื่องมือปกป้องท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประกอบกับวิถีชีวิตผู้ไทของชุมชนบ้านภูจะดำรงอยู่และสร้างพื้นที่สัมพันธ์ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองต่างถิ่นผู้มาเยื่อนได้อย่างมั่นใจ