skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ “ดร.เจริญ รุจิราโสภณ-ส. ขอนแก่น” ผู้นำอาหารไทยในตลาดโลก

บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ “ดร.เจริญ รุจิราโสภณ-ส. ขอนแก่น” ผู้นำอาหารไทยในตลาดโลก

บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ “ดร.เจริญ รุจิราโสภณ-ส. ขอนแก่น” ผู้นำอาหารไทยในตลาดโลก

“เราเริ่มกิจการด้วยเงินทุน 300,000 บาท ไม่มีเครื่องจักร มีแค่กะละมังใบเดียวทำแหนม 3 กิโลกรัมขาย…เราเชื่อเสมอว่า ทุกอย่างเล็กๆ ในวันนี้ จะโตในวันหน้าได้” ดร.เจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นสร้างแบรนด์ “ส. ขอนแก่น” เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

ใครจะคาดคิดว่า เงินทุนเพียง 300,000 บาท ผสมกับหลักคิด “มีโอกาสได้ทำและทำเท่าที่ตัวเองทำได้” แต่ถึงวันนี้ ส.ขอนแก่น มีมูลค่าส่วนแบ่งตลาดต่อปีเฉียด 3,000 ล้านบาท กลายเป็นอาณาจักรอาหารไทยดังไป 5 ทวีปทั่วโลก คือ เอเซีย ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย

 

อีกทั้ง “ดร.เจริญ” ได้รุกขยับเจาะเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลางดินแดนศาสนาอิสลาม ด้วยกลุ่มขนมกรอบขบเคี้ยวที่ผลิตจากไก่ เนื้อวัว เพื่อเป็นตัวเลือกกลุ่มขบเคี้ยวประเภทถั่วและมันฝรั่ง รวมทั้งยังนำทัพ ส.ขอนแก่นบุกตลาดจีน ซึ่งเตรียมการมา 3 ปี แลพร้อมจะเปิดกิจการแล้ว มีสำนักงานใหญ่ที่กวางโจ และโรงงานผลิตอยู่ที่ ฮกเกี้ยน

 

นี่คือ บทบาทของ “บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ” เป็นบุคคลลงแรงจากแนวคิด “ทำด้วยตัวเองตามศักยภาพที่ทำได้” เพื่อไปบรรลุเป้าหมายกิจการเติบใหญ่ในอนาคต สิ่งสำคัญเป็นการเติบโตไปพร้อมกับท้องถิ่น ชุมชน และประเทศ

 

ย้อนชีวิตก่อร่างสร้างตัว

“ดร.เจริญ”มีเชื้อสายจีน อพยพมาไทยช่วงสงครามขัดแย้งทางอุดมการณ์ขยายรุนแรงทั่วประเทศจีน และเป็นธรรมดาชีวิตของคนต่างถิ่นต้องเริ่มต้นด้วยความอดมื้อกินมื้อ มีชีวิตแร้นแค้น ไร้ที่นอนเป็นหลักแหล่งของตัวเอง แต่ “ดร.เจริญ” เมื่ออายุ 13 ปีมีความใฝ่ฝันต้องการมีกิจการเป็นของตัวเอง

 

หลัง “ดร.เจริญ”จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ ได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชีวิตช่วงนี้กำลังอยู่ในวัยทำงาน เขาเริ่มทำงานรับจ้างบริษัทต่างๆ นานถึง 15 ปี เพื่อหาประสบการณ์ แต่ลึกๆ คือ ค้นหาโอกาสเดินไปสู่กิจการของตัวเอง โดยช่วง 5 ปีแรก เริ่มจากงานเป็นเชลล์แมนขายเครื่องจักรอาหารอยู่ 3 ปี และอีก 2 ปีไปทำงานบริษัทต่างประเทศด้านเอ็กซ์พอร์ต จากนั้นเข้าทำงานในบริษัทซีพี ยุคบุกเบิกนานถึง 10 ปี โดยที่แห่งนี้ให้ทั้งประสบการณ์ โอกาส และวิธีคิดต้นแบบการก่อร่างสร้างตัว จนเขานำมาต่อยอดสร้างอาณาจักรอาหารไทยท้องถิ่นอีสานชื่อ “ส. ขอนแก่น” อันโด่งดัง

ช่วง 10 ปีในบริษัท ซีพี “ดร.เจริญ” จัดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปอาหาร เขาอยู่เบื้องหลังการคิดค้นสูตรลูกชิ้นไก่ แล้วผลักดัน “ไก่ย่างห้าดาว” อันเลื่องชื่อในปัจจุบัน  เขาบอกว่า ในช่วงเวลานี้ มีโอกาสดูดซับประสบการณ์ด้านอาหาร จนถึงจุดหนึ่งจึงออกมาทำกิจการของตัวเอง ด้วยความคิดกว้างไกล เขามุ่งหวังเป็น “ผู้นำอาหารไทยในตลาดโลก” โดยมีหมูเป็นวัตถุดิบสำคัญของการแปรรูปอาหารภายใต้แบรนด์ ส.ขอนแก่น ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2527

 

แบรนด์ ส. ขอนแก่น ดูประหนึ่งเป็นแบรนด์บ่งบอกถึงถิ่นอยู่ของเจ้าของแบรนด์ แต่ “ดร.เจริญ” ไม่ได้เป็นคนพื้นถิ่นอีสานและไม่มีพื้นเพอยู่ขอนแก่น ดังนั้น ส. ขอนแก่น ที่เขาสร้างขึ้น ย่อมแสดงถึงการจารึกคุณค่าและให้ความเคารพอาหารถิ่นอีสาน ซึ่งเป็นจุดเกิดของธุรกิจแปรรูปอาหารท้องถิ่นไทยไปตลาดโลก

 

เมื่อถอดความเป็นวิถีกิจการแล้ว เขาบอกว่า ส. ขอนแก่น หมายถึง“สินค้าจากขอนแก่น” อีกทั้งเป็นสินค้าอาหารพื้นถิ่นมีความอร่อย มีคุณภาพครบรูป รส กลิ่น สี เนื้อสัมผัสแบบอีสานที่โด่งดังทั้งประเภท แหนม หมูหยอง หมูยอ หมูแผ่นกรอบ ไส้กรอกอีสาน กุนเชียง

 

“การสร้างแบรนด์เป็นเรื่องที่ต้องลงทุน และต้องจริงใจกับลูกค้า สินค้าดีและแบรนด์ดี ต้องพิสูจน์ได้” ดร.เจริญ เคยถอดบทเรียนการสร้างกิจการ

คิดทำใหญ่ เริ่มจากไทยไปตลาดโลก

กิจการแรกของ “ดร.เจริญ” จดทะเบียนในรูปของ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.)” เพื่อนำสินค้าพื้นถิ่นอีสาน จากบ้านไผ่ ขอนแก่น มาจำหน่ายในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างดีจากผู้บริโภคจนกิจการเติบโตแล้วขยายส่งขายไปทั่วประเทศ จากนั้นขยับคิดทำการใหญ่ตามศักยภาพเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ นำเงินตราเข้าไทย

 

ด้วยวิธีคิด “ทำใหญ่เท่าที่ตัวเองทำได้” ดร.เจริญ บอกว่า “เมื่อคิดถึงตลาดทั้งโลกเป็นของคุณ แต่คุณทำไม่ได้จึงต้องเริ่มต้นจากประเทศไทย แล้วนำเข้าไปสู่ตลาดโลก” เขาจึงตั้งโรงงานแปรรูปอาหารไทยอีสานขึ้นเป็นฐานการผลิตในประเทศ โดยเน้นคุณภาพแน่นอน คงทน ไม่สร้างความผิดหวังให้ลูกค้า ดังนั้น “กิจการก็จะโตวันโตคืนเพราะลูกค้าประทับใจ จึงทำให้สินค้าไปได้ทั่วไปเร็วมาก และเป็นความสำเร็จซึ่งไม่ได้อยู่กับการขายเก่ง แต่บริษัทต้องโตอย่างยั่งยืน”

 

“ดร.เจริญ” ถอดบทเรียนมองการพัฒนาประเทศว่า ไทยเป็นเกษตรอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาเป็นเพียงการเกษตรจึงไม่สามารถก้าวข้ามความยากจน ดังนั้นการเกษตรต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม แล้วออกไปสู่ตลาดต่างประเทศทั่วโลกที่มีลูกค้ามากถึง 7,000 ล้านคน “หากไทยมุ่งแต่สินค้าปฐมภูมิ เราจะไปไม่ได้ไกล เราต้องสร้างสินค้าแปรรูป ไปจำหน่ายต่างประเทศ เพื่อนำเงินตราเข้าสู่ประเทศไทย”

 

ขณะเดียวกัน บริษัทก็วางตัวเองเป็นผู้ประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรม คือทำทั้งการเกษตร และเป็นอุตสาหกรรมแปรรูป โดยมีฟาร์มเลี้ยงสุกรมาป้อนโรงงาน สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่เฉพาะบริษัทได้ประโยชน์ แต่ภาคเกษตรจะได้ประโยชน์ต่อเนื่องกันด้วย

ก้าวข้ามอุปสรรค

เป็นธรรมดาการทำธุรกิจคงไม่ราบรื่นเสมอไป ย่อมมีอุปสรรคขวางกั้น ส.ขอนแก่นก็เช่นกัน เมื่อกิจการระยะแรกช่วง 8 ปีประสบความสำเร็จ แล้วเกิดอุปสรรคครั้งใหญ่ขึ้นในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 หลังนำกิจการ ส. ขอนแก่น ไปเป็นบริษัทมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เพียง 2-3 ปี แล้วเกิดความผิดพลาดต้องขาดทุน สูญเงินนับร้อยล้านในช่วงข้ามคืน

 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อหมูเป็นวัตถุดิบแปรรูปอาหารของ ส.ขอนแก่น ถูกต่างประเทศกีดกันห้ามนำเข้าสินค้าหมูนอกพื้นที่ “ดร.เจริญ”แก้ลำด้วยตั้งโรงงานแปรรูปอาหารที่โปแลนด์ แล้วขยายมาเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นแหล่งระบายสินค้าอาหารไทยรสชาติแบบอีสานขนานแท้ไปทั่วยุโรป 28 ประเทศ นอกจากนี้ยังขยับไปตั้งโรงงานที่อเมริกาด้วย รวมความแล้ว ขณะนี้ สินค้า ส. ขอนแก่น ดังไปทั่วโลก ทั้งในลอนดอน ฝรั่งเศล หาซื้อได้อาหารอีสานต้นฉบับได้หมด

ในช่วงโควิดระบาดทั่วโลกตั้งแต่ปี 2563-2564 แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายในปี 2565 กิจการ ส. ขอนแก่นยากหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ เพราะโควิดทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนเปลี่ยนไป โดยลดการช้อปปิ้ง ไม่ทานข้าวนอกบ้าน แต่สิ่งนี้ย่อมมีอีกด้านที่เป็นโอกาสของธุรกิจขายและส่งถึงบ้าน และ ส.ขอนแก่น ก็เดินไปตามทางการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นนี้

 

“สินค้าดั้งเดิมของเรากระทบบ้าง แต่ไม่มีนัยยะ เพราะเราขายอาหารพื้นถิ่นที่คนไทยบริโภคทุกวันเกือบทุกมื้อ ส่วนผลกระทบนั้นเป็นในแง่กำลังซื้อที่อ่อนตัวลง คือ จากเคยซื้อหนึ่งกิโล ก็ลดเหลือครึ่งกิโล ส. ขอนแก่น จึงผลิตสินค้าในแบรนด์ที่แตกต่างในราคาที่ผู้ซื้อได้เลือกตามกำลังซื้อที่มีอยู่”

 

อีกทั้ง “ดร.เจริญ” บอกว่า บริษัทจะเติบโตได้ ต้องทำให้พนักงานผลักดันกิจการไปด้วย สิ่งที่ ส.ขอนแก่น ทำคือ การสร้างคนเพื่อนำไปสู่การสร้างงาน โดยให้ความรู้แล้วพนักงานจะร่วมแรงทำงานไปกับเรา ในจุดมุ่งหมายชนะร่วมกัน “เราไม่จัดการด้วยตัวของเราเอง หรือเก่งคนเดียว แต่เราทำทั้งทีม ชนะทั้งทีม”

 

แม้ทุกสรรพกำลังทุ่มเทสร้างงานให้เติบใหญ่แล้วก็ตาม แต่เมื่อมีอุปสรรคมาขวาง เจริญ เคยบอกว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะลิขิตชีวิตเราได้ ในเมื่อมีเป้าหมายชีวิต ถ้าเราพยายามทำ ไม่มีสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อุปสรรคและปัญหามันมีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีเอาไว้ให้กังวัล เมื่อเจอปัญหาให้ตั้งสติวิเคราะห์แล้วหาคำตอบ”

บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ

แนวทางสัมมาชีพ เน้นที่การพึ่งตัวเองให้ชีวิตมีความสุข โดยไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ไม่เอาเปรียบสังคมและธรรมชาติ ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้เพื่อเหลือเก็บออมเป็นทุนของชีวิต พร้อมทั้งไว้เป็นทุนขยายกิจการพอประมาณ ดังนั้น จุดเด่นของ “ดร.เจริญ” ผู้ก่อร่างสร้าง ส. ขอนแก่น จึงสอดคล้องกับสัมมาชีพ โดยเฉพาะการทำกิจการตามศักยภาพที่ตัวเองทำได้ และการร่วมมือกับท้องถิ่น ชุมชนได้ยกระดับรายได้เพิ่มขึ้น

 

“ดีใจ ภูมิใจ และโชคดีที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลต้นแบบของสัมมาชีพ โดยรางวัลนี้จะเป็นกำลังใจและเป็นตัวอย่างให้นักธุรกิจที่กำลังไต่เต้าได้มีกำลังใจ เมื่อเรามีการเชิดชูคนที่มีคุณภาพได้ทยานขึ้นไป ถ้าทุกคนมาจากสินค้าพื้นถิ่น ชุมชน มีหลักคิดอย่างผม ประเทศไทยจะไปได้ไกล”

 

ความรู้สึกภูมิใจของ “ดร.เจริญ” ฉายทอทั้งใบหน้าและดวงตา แม้เขานิยามตัวตนเป็นเพียงผู้ประกอบการเริ่มไต่เต้า แต่รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพย่อมเป็นสิ่งผลักดันให้ทะยานไปสู่การทำธุรกิจที่เน้นคุณภาพ พร้อมร่วมมือท้องถิ่น ชุมชน ก้าวเดินนำอาหารไทยไปสู่ตลาดโลก เพื่อบรรลุชัยชนะร่วมกัน

 

“ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมใหญ่จะเติบโตไปตามลำพังไม่ได้ สังคมจะเจริญเร็วกว่านี้ ถ้ารายใหญ่ร่วมมือกับรายเล็ก เพื่อสร้างความเจริญให้ประเทศ ส่วน ส.ขอนแก่น เริ่มจากสินค้าพื้นถิ่นให้การสนับสนุน เป็นการร่วมมือกันและสร้างงานให้ชุมชน ดังนั้น จึงมีแต่ชนะร่วมกัน”

 

“ส. ขอนแก่น นำสินค้าจากบริษัทห้องแถวมาช่วยสนับสนุน คืองานที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง เราให้รายเล็กทำ โดยเราควบคุมคุณภาพ เราสร้างงานให้ชุมชน สร้างรายได้ให้ชุมชน บริษัทได้ลดต้นทุน แล้วเราก็เติบโตไปด้วยกัน สิ่งนี้คือ Win-Win”

 

วันนี้ “ดร.เจริญ” วัยกว่า 72 ปี ร่างกายดูแข็งแรง เขาเริ่มสร้าง ส.ขอนแก่นมาเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ก่อร่างสร้างตัวจากกิจการสินค้าแปรรูปอาหารท้องถิ่นอีสานที่มี “หมู” เป็นพระเอก ประเภท แหนม หมูหยอง หมูยอ หมูแผ่นกรอบ ไส้กรอกอีสาน กุนเชียง เป็นด้านหลัก แล้วขยายสู่ขนมขบเคี้ยว, อาหารแช่แข็ง, ธุรกิจร้านอาหาร Quick Service Restaurant (QSR)  และร้านแซ่บคลาสสิก ให้ลูกค้าที่คุ้นเคยกับอาหารอีสานทั้ง 13 สาขา

 

สินค้า ส. ขอนแก่นมียอดขายทำรายได้เฉียด 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะผลประกอบการในครึ่งปี 2565 มีรายได้จากการขาย 1,519  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% และกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 65 ล้านบาท เป็นเครื่องการันตีกิจการแปรรูปอาหารอีสานท้องถิ่นที่ได้รับความนิยม

 

นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่อยู่ในเครือและภายใต้การบริหารของ “ดร.เจริญ” อีก 8 แห่ง คือ บริษัท มหาชัยฟู้ดส์ จำกัด บริษัท เอส เค เค ฟู้ด จำกัด บริษัท ส.ปศุสัตว์ จำกัด บริษัท ส.เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท ทรีดีฟู้ดแอนด์เบฟเวอเรจ จำกัด บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ (เนเธอร์แลนด์) บี.วี. บริษัท มะริดซีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซีเอ็นเอ็น โฮลดิ้ง จำกัด

 


ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

https://www.instagram.com/sammachiv/

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top