บทเรียนโครงการพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรเกษตรกร
มูลนิธิสัมมาชีพร่วมสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ บทเรียนโครงการพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรเกษตรกร พร้อมกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่างกองทุนฟื้นฟูฯ กับเกษตรกร
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะทำงานโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรเกษตรกร ซึ่งมูลนิธิสัมมาชีพร่วมกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร จัดอบรมหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง เกษตรกร” ได้ประชุมสรุปงานร่วมกัน ณ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
โครงการอบรมดำเนินการ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และสิ้นสุดโครงการเมื่อ เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา รวม 14 เวที มีผู้เข้าอบรมทั้งหมด 2,660 คนจากทั่วประเทศ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรเกษตรกรให้มีบทบาทและความสามารถในการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาการฟื้นฟู การพัฒนาอาชีพ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ในการสรุปงานร่วมกันที่ประชุมได้พูดถึงการทำงานแต่ละเวที ซึ่งบทบาทของมูลนิธิสัมมาชีพ มีหน้าที่จัดหาวิทยากรมาบรรยายให้กับผู้เข้ารับการอบรม ส่วนสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ มีหน้าที่เตรียม ผู้เข้าอบรม ดังนั้น มูลนิธิสัมมาชีพจึงมีหน้าที่ทำให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นภาพรวมในการแก้ปัญหาและนำเอาความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองต่อไป ส่วนสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องไปสานต่อว่าควรทำอย่างไรที่จะทำให้กลุ่มเกษตรกรสามารถแก้ปัญหาหนี้สิน และปัญหาอื่นๆ ได้
ขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงความคิดในการมองทุนที่มีอยู่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งการจัดการปัญหาแบบเดิมๆ อาจช่วยแก้ไปปัญหาที่เกษตรกรกำลังเผชิญไม่ได้อย่างแท้จริง จึงต้องมีวิธีการจัดการอย่างต่อเนื่อง มีภาคีเครือข่าย มีการรับรู้ข่าวสารข้อมูลใหม่ๆ เพราะในเวทีอบรม จะมีการให้ข้อมูล และให้ภาคีอื่นๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเกษตรกรผู้เข้าอบรมสามารถหยิบตัวอย่างจากกรณีศึกษาที่หลักสูตรได้เตรียมไว้ให้ นำไปเป็นแนวทางในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือกันว่าการอบรมแต่ละเวทีทางคณะทำงานเห็นจุดดีและจุดด้อยอะไร ทางกองทุนฟูฟื้นฯ ต้องมีการพัฒนาไปในแนวทางใดบ้าง โดยปัญหาที่พบจะเห็นว่าในการจัดเวทีครั้งแรกๆ มีการเตรียมกลุ่มเป้าหมายไม่ทัน แต่เวทีหลังๆ หากมีการเตรียมกลุ่มเป้าหมายมาพร้อมและปูพื้นฐานให้ผู้อบรมส่วนหนึ่งแล้ว จะทำให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าอบรมได้ประโยชน์มาก
ส่วนเรื่องของการเปลี่ยนแนวความคิด ทางคณะทำงานจะเข้าไปเสริมสร้างความรู้ที่ช่วยให้ผู้เข้าอบรมก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เข้าใจในแนวโน้มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเน้นว่าควรปลูก ฝังอะไร เช่น เรื่องของสุขภาพและการหาตัวอย่างในการทำงานที่ดี
บทสรุปในการจัดอบรมครั้งนี้ แสดงให้เห็นการทำงานในอนาคตของทั้งเกษตรกรและสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ อย่างกรณีของเกษตรกรที่จะต้องนำความรู้จากการอบรมไปต่อยอด และสร้างตลาดใหม่หรือพัฒนาตนเอง รวมถึงพนักงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูที่เป็นกำลังในการช่วยเหลือเกษตรกร ต้องมีการพัฒนาภายในตัวองค์กร โดยแบ่งได้เป็น 3 ประเด็น คือ 1) การทำงานกับเครือข่าย 2) การทำงานกับผู้บริหาร และ 3) การทำงานกับพนักงาน
ในการทำงานกับเครือข่าย จะเน้นไปที่เรื่องของการขยายงานและประเด็นในการทำงาน ส่วนการทำงานกับผู้บริหารคือ การฟื้นฟู การจัดการปัญหาหนี้สิน และร่วมสร้างให้เกษตรกรมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ รวมถึงมีการประเมินศักยภาพเกษตรกร หรือให้คำแนะนำและตัวอย่างในการจัดการหนี้ที่ดีให้
ประเด็นเรื่องการทำงานกับพนักงานในสังกัดของกองทุนฟื้นฟูเอง จะต้องมีการเติมข้อมูลให้เห็นภาพว่า การขับเคลื่อนงานนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องเกษตรกรอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้เพิ่มเติม เช่นเรื่อง วิสาหกิจ เพื่อต่อยอดงานที่ทำ ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานไม่ต้องทำงานอยู่กับปัญหาเดิมๆ แต่ไปเติมความรู้และช่วยส่งเสริมให้บุคลากรสามารถเดินออกจากงานเดิมและนำความรู้ไปขยายงานต่อยอดเพื่อให้คำแนะนำและช่วยต่อยอดให้กับเกษตรกรได้ต่อไป