skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
บทบาท “SME Bank”…ในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจชุมชน”

บทบาท “SME Bank”…ในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจชุมชน”

“คุณพิชิต มิทราวงศ์” ผู้อำนวยการอาวุโส รับผิดชอบสำนักงานบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวนโยบายประชารัฐ และสายงานการตลาดและนโยบายรัฐ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) บรรยายในหัวข้อ รางวัล “SME-สัมมาชีพ กับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” ในโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 มีสาระน่าสนใจดังนี้

SME Development Bank เป็นธนาคารของรัฐที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม มีบทบาทในการสร้างผู้ประกอบการไม่ใช่แค่ปล่อยสินเชื่ออย่างเดียวแต่จะเกี่ยวข้องกับหลายๆ พันธกิจในนโยบายของรัฐบาล

เป้าหมายเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SME ให้มีความมั่นคงและยั่งยืนบริการให้สินเชื่อ พัฒนาผู้ประกอบการ เติมเต็มด้วยการร่วมลงทุน SME Development Bank นั้นมีเป้าหมายชัดเจนสร้างศักยภาพและเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน ให้ SME สามารถแข่งขันได้

SME Development Bank   จึงเป็นส่วนหนึ่งที่อยากทำให้ SME ประสบความสำเร็จ สมัยก่อนเราอาจจะทำหน้าที่เหมือนแบงก์ในระบบทั่วไป ลูกค้าขอกู้เราก็พิจารณาสินเชื่อ อำนวยสินเชื่อ แต่เมื่อ 4 – 5 ปี ที่ผ่านมาเราเริ่มปรับบทบาท แต่เห็นภาพชัดขึ้นในปี 58 เป็นต้นมา SME Development Bank ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งยิ่งใหญ่ ทำนโยบายขับเคลื่อนเป็นเครื่องไม้เครื่องมือตามนโยบายรัฐบาลส่งเสริม SME รายเล็ก

เมื่อก่อนปล่อยสินเชื่อระดับ 500 ล้านบาท ปัจจุบันได้ลดขนาดลง วงเงินสูงสุดที่ 15 ล้านบาทเพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน มีความเข้มแข็งของธุรกิจ มีความมั่นคงของประเทศตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ที่สำคัญเราใช้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนนโยบายการออกผลิตภัณฑ์ของธนาคารโดยรัฐบาลมีนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม  9 มาตรการ เป็นพี่เลี้ยงให้ SME ในการยกระดับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ซึ่งแบงก์ได้ออกเป็นโปรแกรมสินเชื่อ ให้ SME เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย ซึ่งต้นทุนต่ำมากในหลายมาตรการผู้ประกอบการ SME เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิต สามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ภาครัฐมีอยู่เป็นการยกระดับ SME ให้เข้มแข็ง

ใน 9 มาตรการที่ SME Development Bank เอามาออกเป็นผลิตภัณฑ์ของธนาคาร เป็นโปรแกรมสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ SME เข้าถึงแหล่งทุน และมีการเชื่อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทั่วๆ ไปทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง เช่น SME Development Bank มีสินเชื่อต่ำควบคู่ไปกับ 9 มาตรการ แบงก์เรามีสินเชื่อดอกเบี้ย 1% ต่อปีซึ่งต่ำมาก มีอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปีและอัตราดอกเบี้ย 4%  ต่อปี  ต่ำกว่าแบงก์พาณิชย์ทั่วไป

ที่สำคัญ เราให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสำรวจพบว่า เดิมเรามี SME 3 ล้านราย อีก 2 ล้านรายไม่อยู่ในทะเบียน รวม 5 ล้านรายส่วนใหญ่ เข้าไม่ถึงแหล่งทุน เพราะไม่มีหลักประกันหรือมีหลักประกันแต่ไปใช้ที่อื่นเพิ่มอีกไม่ได้ จะใช้คนค้ำประกันก็ไม่มีใครอยากค้ำประกันให้

เราจึงมีผลิตภัณฑ์ออกมา เช่น สินเชื่อ 1% ต่อปี ไม่ต้องใช้ใครค้ำประกันสามารถใช้กรรมการซึ่งเป็นผู้กู้ค้ำประกันตัวเอง ถ้าไม่เกิน 5 ล้านบาทดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันได้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ที่เป็นบ้าน หรือ ที่ดินค้ำประกัน นี่คือ เราออกโปรดักส์ให้สอดรับนโยบายรัฐบาล

ที่สำคัญเราไปคนเดียวไม่ได้ แบงก์ทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องเป็นพันธมิตรกับคนที่เก่งๆ มีฐานความรู้ เช่น ชมรม กระทรวงหรือแบงก์ด้วยกันเอง เพื่อเชื่อมสัมพันธ์เพื่อถ่ายทอดความรู้ ให้ถึงกัน เช่น เงินกู้เราให้อย่างมากไม่เกิน 15 บาท แต่หากธุรกิจของท่านต้องการมากกว่านี้ เราก็เชื่อมโยงกับธนาคารพันธมิตร อย่างกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า สามารถต่อยอดวงเงินได้ไม่มีขีดจำกัด

นอกจากนี้เราต้องมีสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยที่มีหน่วยงานวิจัยที่ทำการวิจัย เราเอางานอยู่หิ้งเอามาอยู่ห้าง แต่ธรรมดาก็ต้องมีค่าธรรมเนียม ก็มีสินเชื่อ SME Development Bank มาต่อยอด เราเพิ่งทำความร่วมมือกับกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับเกษตรออแกนิค อาหารปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ซึ่งแบงก์จะช่วยในฐานะพี่เลี้ยง

ธนาคารเรายังสอดรับกับยุทธศาสตร์จังหวัดแต่ละจังหวัด โดยให้จังหวัดนั้นๆ ดึงการตลาด การผลิต บริการเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย นอกจากจังหวัดแต่ละจังหวัดมียุทธศาสตร์ แล้วเรายังเจาะจงเป็นรายคลัสเตอร์ เช่น เชียงรายอาจจะเน้นเรื่องกาแฟ อาหาร พิษณุโลกเรื่องสมุนไพร ขอนแก่นเรื่องโลจิสติกส์  ไฮเทค และภูเก็ตเรื่องไอที เราจะเป็นตัวเชื่อมโยงประสานผลิตภัณฑ์และความช่วยเหลือต่างๆ ไปสู่แต่ละจังหวัด ซึ่งมีการออกแนวคิด ออกผลิตภัณฑ์ การพัฒนาของแบงก์

เรายังตอบรับกับกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อก่อนกระทรวงทำหน้าที่ เป็นผู้กำกับดูแล แต่ปัจจุบันทำหน้าที่เพิ่มด้วยการเป็นผู้ให้การสนับสนุน เมื่อก่อนจะมีหน้าที่ในการออกใบอนุญาตแต่ปัจจุบันเพิ่มหน้าที่ ช่วย SME ไปใช้เครื่องมือที่ศูนย์อุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค อุตสาหกรรมจังหวัดก็จะมีหน้าที่ช่วย SMEยกระดับ

SME Development Bank เอานโยบายเหล่านี้ตั้งแต่การผลิต การค้าขาย ให้สอดรับนโยบาย จะเห็นว่าเราเชื่อมโยงตั้งแต่ฐานรากจนถึงไฮเทคที่เกี่ยวข้องกับ SME ทั้งระบบ

          เราทำหน้าที่อย่างเข้มข้นปรับความคิดบุคลากรของแบงก์ ให้สอดรับความคิดเหล่านี้ อาจจะขลุกขลักไปบ้างก็เนื่องมาจากเป็นการเปลี่ยนผ่าน จากปล่อยสินเชื่อเป็นอำนวยสินเชื่อบวกการพัฒนา พยายามผลักดันเครื่องยนต์เครื่องนี้ เข็น SME ให้เป็นภารกิจที่เราต้องทำให้สำเร็จ

Back To Top