skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ท่องเที่ยวเดินหน้า 7+7  เราต้องอยู่ด้วยความหวัง

ท่องเที่ยวเดินหน้า 7+7 เราต้องอยู่ด้วยความหวัง

ท่องเที่ยวเดินหน้า 7+7

เราต้องอยู่ด้วยความหวัง

ททท.รับท่องเที่ยววิกฤต ธุรกิจโรงแรมสาหัส เน้นรอยยิ้มเป็นจุดแข็ง ขอคนไทยช่วยดูแลความปลอดภัย นทท. คาดแผน “7+7”เริ่มเดินเครื่อง 15 ส.ค.นี้ ย้ำเป้าสิ้นปี 64 มีต่างชาติเที่ยวไทย 3 ล้านคน อนาคตชงกลยุทธ์ “5 สูง”ปรับลดพึ่ง นทท.ต่างชาติ หนุนเที่ยวใน ปท.

หลังจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 รุนแรงขึ้น จำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มพุ่งไปแตะหลักกว่า 20,000 คนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ส.ค.และต่อเนื่องถึง 5 ส.ค. ความหวั่นวิตกยิ่งโหมถมทับซ้ำเติมวิกฤตท่องเที่ยวไทยให้เผชิญความลำบากเป็นเท่าทวี

 

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดใจกับรายการ “ลับคมธุรกิจ”ทางสถานีวิทยุ 90.5 FM ถึง “วิกฤติโควิดลากยาว ซ้ำเติมท่องเที่ยวไทย ไปต่ออย่างไร” เมื่อ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาน่าสนใจและมากแง่มุมสะท้อนถึงอนาคตธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับเปลี่ยนใหม่ แม้เผชิญวิกฤตโควิด แต่การท่องเที่ยวจะไม่ท้อ เพราะยังมีความหวังในระยะสั้น ขอคนไทยช่วยเติมรอยยิ้มเฝ้าดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว พร้อมข้ามพ้นวิกฤตในระยะสั้นไปให้ได้

 

ติดเชื้อเพิ่ม วิกฤตโควิดกระทบท่องเที่ยว

“ยุทธศักดิ์” บอกว่า เมื่อการระบาดรอบใหม่ขยายวงกว้าง ท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก ตัวเลขเมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 3.6 ล้านคนครั้ง (ต่อเดือน) ซึ่งน้อยมากโดยสถานการณ์ปกติจะเฉลี่ยอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนครั้งต่อเดือน

ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรม ใน มิ.ย.อยู่ที่ประมาณ 8% ถือว่าต่ำมาก โดยอัตราการเข้าพักต่ำสุดที่เป็นจุดวิกฤตของธุรกิจโรงแรมจะอยู่ได้อยู่ที่ 28% ดังนั้นเมื่อเหลือ 8% จึงหนักหนาพอสมควร จึงทำให้เกิดปัญหาในภาพรวม เพราะคนไทยไม่กล้าเดินทาง เนื่องจากรัฐออกมาตรการคุมเข้มข้น จนทำให้จังหวัดควบคุมการเคลื่อนย้ายคนเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด

ในการเปิดประเทศใน 120 วันนั้น ผู้ว่า ททท.กล่าวว่า ตามการประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่ง ททท.ดำเนินการมาได้แล้วส่วนหนึ่ง เช่นการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งวันนี้ (6 ส.ค.) ภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อใหม่ประมาณ 33 คน แต่การระบาดของคลัสเตอร์แพปลานั้น เป็นเพียงการตรวจเชิงรุก เมื่อเจอผู้ติดเชื้อต้องนำไปกักตัว ไม่ได้ให้มาปะปนกับคนอื่น ดังนั้นถ้าเปรียบเทียบแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อยังน้อยอยู่ รวมทั้งอัตราการครองเตียงของภูเก็ตก็ยังถือว่าน้อยมาก

 

ย้ำรอยยิ้มช่วยดูแลชีวิตปลอดภัย นทท.

รวมทั้งกล่าวถึงการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยว (นทท.) คงมีผลกระทบกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์บ้าง แต่คิดว่าเป็นเพียงปัญหาความปลอดภัย ซึ่ง ททท.ต้องทำงานใกล้ชิดกับตำรวจและจังหวัดเพิ่มอีกเพื่อให้เกิดความกระจ่างในคดีที่เกิดขึ้น

“มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่มาเกิดขึ้นในช่วงที่เราดำเนินการในส่วนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้อย่างดี และเป็นความหวังอยากเห็น นทท.เข้ามา เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็หวังให้นำตัวผู้ร้ายมาลงโทษและให้โปร่งใสมากที่สุด ซึ่งน่าจะดีที่สุดในสถานการณ์แบบนี้”

ส่วนการไปต่อของภูเก็ตและสมุย โดยไม่ให้เกิดเรื่องมาขัดจังหวะนั้น ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ต้องแยกเรื่องการเสียชีวิตของ นทท.ออกจากกัน แม้เรื่องความไม่ปลอดภัยเคยเป็นปัญหาในอดีต แต่การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เราต้องการให้เห็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ และได้เน้นถึงความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นสัญญาณให้ต้องกลับไปดูปัญหาพิ้นฐานด้วยว่า ได้รับการแก้ไขหรือยัง

“ในเรื่องความปลอดภัย การเป็นเจ้าบ้านที่ดี น่าเป็นสิ่งที่เราสามารถให้เขาได้ในเวลาแบบนี้ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยด้วย และเราได้มีการประเมินสิ่งที่นักท่องเที่ยวชอบ คือ การประทับใจคนไทย มีรอยยิ้ม ทำไมเราไม่ใช้จุดแข็งดูแลเขา อีกอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนภูเก็ตคงไม่อยากให้เกิด ขอพี่น้องคนภูเก็ตต้องออกมาปกป้องคนที่เป็นแขกบ้านแขกเมืองที่เข้ามา ถึงแม้จำนวนไม่เยอะก็ตาม แต่เป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อความเติบโตของนักท่องเที่ยวในช่วงอนาคต”

สำหรับผลการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาตั้งแต่ 1 ก.ค.-5 ส.ค.นั้น มี นทท.เข้ามาทั้งสิ้น 16,408 คน มีการจองห้องพักมาแล้วถึง ก.ย.จำนวน 334,376 ห้อง สิ่งสำคัญคือ ยังมีการจองไปถึง ต.ค.และ ก.พ.ปีหน้ามากกว่า 8,000 ห้อง โดยกระจายไปมากกว่า 400 โรงแรมทั่วเกาะภูเก็ต

นอกจากนี้ยังมี นทท.ต่างประเทศติดเชื้อเข้ามาประมาณ 47 คน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวน นทท.ที่เข้ามา ดังนั้นหากพิจารณาในมิติไม่มีการติดเชื้อจากคนต่างประเทศกับคนไทย และจากคนไทยไปติดเชื้อให้ นทท.ต่างประเทศแล้ว ช่วงเวลาที่เปิดมานั้น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะส่งผลทางเศรษฐกิจใกล้พันล้านบาท

 

ประเมินท่องเที่ยวเติบโตปี 64

ททท.มองในด้านบวก พยายามตั้งเป้าทำรายได้ โดยหวังว่า ในสิ้นปีนี้ (2564) จะมี นทท.ต่างประเทศประมาณ 3 ล้านคน แม้ที่ผ่านมาเข้ามาเพียงหลักหมื่นก็ตาม แต่ถ้าพยายามทำความเป็นเจ้าบ้านให้ดีขึ้นจนเกิดความปลอดภัยแล้ว ก็มีความเป็นไปได้กับจำนวน นทท.ที่ประเมินไว้

สิ่งที่เป็นห่วงคือประเทศมีสถานการณ์ปิดค่อนข้างมาก แต่เราพยายามทำให้มีการดินทางไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการเดินทางประมาณ 90 ล้านคนครั้ง โดยขณะนี้ได้ประมาณ 60 ล้านแล้ว ดังนั้น เราต้องพยายามต่อและท้อไม่ได้

“หลังเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาได้ประมาณ 1 เดือนมีรายได้กระจายลงไปในเชิงปริมาณลดหลั่นกันไป โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไกด์มีรายได้มากขึ้น มีเงินไปจ่ายค่าเทอมให้ลูกจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อีกทั้งพนักงานโรงแรมโพสต์ว่า ได้รับเงินเดือนเต็มเดือนเป็นเดือนแรก หลังจากบางคนตกงาน กระทั่งคนนวดตามชายหาด เขากำแบงก์ร้อยมาพูดด้วยความเต็มใจว่า มาจากน้ำพักน้ำแรงของเขาที่ได้จากการทำงาน มากกว่าการรอความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล ผมคิดว่าทำให้คนที่ทำงาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ภาคภูมิใจ”  

เมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้นที่ภูเก็ต เราจึงพยายามต้องรักษาภาพลักษณ์ให้ได้ เพราะผลกระทบทำให้เสียหาย ดังนั้น ระยะสั้นการเป็นเจ้าบ้านที่ดี คือคนไทยหรือคนภูเก็ตต้องช่วยดูแลนักท่องเที่ยวแม้เขาจะอยู่ที่ไหน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนที่สมุยนั้น กระบวนการ นทท.เข้ามาแตกต่างจากภูเก็ต โดยภูเก็ต จะมีการตรวจ RT-PCR ตั้งแต่สนามบิน แล้วเข้าพักที่โรงแรม เมื่อผลตรวจออกมาสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในภูเก็ตได้ สำหรับที่สมุย 3 คืนแรก นทท.ต้องพักในโรงแรมออกมาไม่ได้ จากนั้นในคืนที่ 4-7 ออกนอกโรงแรมได้ แต่เที่ยวตามเส้นทางกำหนดไว้ จากนั้นคืนที่ 8-14 สามารถเดินทางเที่ยวระหว่างเกาะพงัน หรือเต่าได้

ปัจจุบันมี นทท.สะสมตั้งแต่ 15 ก.ค.-5 ส.ค.ประมาณ 190 คน ที่น่าสนใจมีคนที่มาจากภูเก็ตมาเที่ยวต่อสมุยจำนวน 251 คน ดังนั้น เมื่อเดินหน้าทั้งภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส และต่อไปรัฐบาลจะทำที่เรียกว่าท่องเที่ยว “แผน 7+7” ซึ่งจะเริ่มต้นได้ในวันที่ 15 ส.ค.นี้ จึงขอให้คนกระบี่ พังงา ได้เป็นเจ้าบ้านที่ดีด้วย

 

     

 

การเที่ยวแผน 7+7 ที่ผ่านมาไม่มีการชะงัก โดยผ่านมติ ศบค.ชุดเล็กไปเรียบร้อยแล้ว จะเข้า ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป เชื่อว่าคงทันในการเปิดตั้งแต่ 15 ส.ค.เป็นต้นไป ส่วนการเตรียมแผนรองรับการท่องเที่ยวให้เป็นส่วนหนึ่งของการฟิ้นเศรษฐกิจนั้น เรามั่นใจว่าทุกคนต้องอยู่ด้วยความหวัง แม้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก แต่เราจะไม่ท้อ

ด้านการเตรียมการให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรี ททท.ให้นโยบายกำหนดพื้นที่ปลอดภัยสีฟ้า แบ่งเป็นโซนๆให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ จากนั้นจะเป็นบลูโซน และเกิดท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เป็นตัวเร่งให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศขึ้น

ส่วน นทท.ต่างประเทศ เริ่มต้นจากแซนด์บ็อกซ์ แล้วขยายไปสมุยพลัส และ 7+7 และหวังว่า นทท.มั่นใจแล้ว เริ่มเข้ามาเที่ยวมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยการแพร่เชื้อโควิดต่อคนไทยเป็นสำคัญ อีกทั้งแม้มีความพยายามลดการพึ่งตลาด นทท.ต่างประเทศให้น้อยลง แล้วขยับตลาด นทท.ในประเทศให้มากขึ้น แต่ต้องดูกำลังซื้อของคนในประเทศว่า สามารถถดแทนตลาดต่างประเทศในระดับบนที่หายไปด้วย

“กระบวนการต่างๆเหล่านี้ เราต้องอยู่ด้วยความหวังว่า ประเทศจะต้องกลับมา เราต้องการให้เกิดการจ้างงาน ไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการสูญหายไป เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาแล้วคนได้ประโยชน์สูงสุดคือพี่น้องคนไทยรวมทั้งผู้ประกอบการคนไทย”

ดังนั้นในด้านยุทธศาสตร์แล้ว ต้องกำหนดการปรับบทบาทจากการขายธรรมชาติ แล้วเปลี่ยนมาหาโซลูชั่นให้ตอบโจทย์กลุ่ม นทท. โดยกลยุทธ์ที่อยากเห็นในอนาคตการท่องเที่ยวของไทยคือ 5 สูง ประกอบด้วย ควอลิตี้ อิมเพ็กซ์ มูลค่า เทคโนโลยี และปรับระบบธุรกิจท่องเที่ยวไปสู่ยุคดิจิทัลให้มากขึ้นด้วย

“ในอนาคตภาพการท่องเที่ยวจากการเห็นคนเยอะๆ เข้ามา 4-50 ล้านคนอาจจะค่อยๆปรับเปลี่ยนไป คนอาจเข้ามาน้อย แต่มีการใช้จ่ายเท่ากับคนจำนวนมากๆในการเที่ยว โดยหวังให้ลดจำนวนคนลงมาครึ่งหนึ่ง แล้วยังมีรายได้เข้าประเทศเท่าเดิม คือสิ่งที่เราอยากจะเห็น” ยุทธศักดิ์ บอกถึงอนาคตความหวังของการท่องเที่ยวไทย

 

 

ขอบคุณที่มา: รายการ “ลับคมธุรกิจ” (สถานีวิทยุ 90.5 FM)


 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

 

 

Back To Top