ชี้ช่องโอกาส SME จากกลไกรัฐ
ชี้ช่องโอกาส SME จากกลไกรัฐ
การอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-29 พฤศจิกายน 2563 และเมื่อ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้บรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อน SME ด้วยกลไกภาครัฐ”
ดร.วีระพงศ์ กล่าวถึงเกณฑ์พิจารณาผู้ประกอบการจะเป็นเอสเอ็มอี (SME) หรือไม่ว่า สสว.ยึดหลักตามกฎกระทรวงระบุไว้ให้พิจารณาจาก “รายได้” เป็นหลัก โดยภาคการผลิตรายได้ต้องน้อยกว่า 500 ล้านบาท ภาคบริการและการค้าน้อยว่า 300 ล้านบาท ส่วนกิจการของบุคคลต้องมีรายได้ประมาณ 1.8 ล้านบาท
ดังนั้น ถ้าอยู่ในเกณฑ์เหล่านี้ จึงจัดเป็นเอสเอ็มอี และสามารถเข้าระบบได้รับการส่งเสริมจากรัฐ อีกทั้งแนวทางขับเคลื่อนและส่งเสริมเอสเอ็มอีของ สสว. เน้นให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุน และสามารถเติบโตในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญที่สุดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ “ผู้นำ”
ภาพรวมของ สสว.เป็นหน่วยนโยบายของรัฐ มีสภาพเหมือนเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ของเอสเอ็มอี ทั้งอยู่ในระบบและนอกระบบ นอกจากนี้ นิยามผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หมายถึงบุคคลธรรมดาจดทะเบียนหรือไม่ก็ตาม และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยมีเอสเอ็มอีประมาณ 3 ล้านราย คิดเป็นกว่า 90% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ แต่ด้วยแนวคิดที่ยึดถือแล้วประเมินว่า แต่ละประเทศจะมีเอสเอ็มอีอยู่จริงอยู่ประมาณ 9 ล้านราย หรือ 3 เท่าของเอสเอ็มจีที่จดทะเบียน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 3 ล้านรายสามารถสร้างจีดีพี (GDP) ของประเทศได้ 35% ส่วนประเทศที่เจริญแล้วจะมีจีดีพีถึง 50% ด้งนั้น ถ้าประเทศไทยต้องการขยับเอสเอ็มอีจากจีดีพี 35 % เป็น 39 % ต้องส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเอสเอ็มอีให้ทำกิจกรรมเพิ่มรายได้ขึ้นอีก 6 แสนล้านบาท ( 1 จีดีพีคิดเป็นเงินได้ประมาณ 1.5 แสนล้าน) ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย
ถ้าพิจารณาจากงบประมาณ สสว.ที่มีอยู่แต่ละปีประมาณกว่า 1.2 พันล้านบาท จะสามารถส่งเสริมให้เกิดเอสเอ็มอีมีรายได้รวมเพียง 1.3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น หากจะขยับให้ไปถึงแสนล้านบาทแล้ว ต้องทำทั้งนโยบาย มาตรการเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการส่งเสริมได้สะดวกและง่ายขึ้น
สิ่งหนึ่งควรตระหนักคือ สสว.ไม่ใช้สถาบันแหล่งเงินกู้หรือให้เงินอุดหนุนดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นหน่วยงานกึ่งให้คำปรึกษาและส่งเสริมกิจการของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยสามารถชี้ช่องทาง “สร้างโอกาส” ได้เข้าถึงแหล่งเงินจากหน่วยงานรัฐ-เอกชน ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนกิจการเอสเอ็มอีทุกกระทรวง ทบวง กรม
เข้าถึงจัดซื้อจัดจ้างรัฐ-เอกชน
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงการจัดซื้อ จัดจ้างจากงบประมาณหน่วยงานรัฐได้ โดยแต่ละปีหน่วยงานรัฐจะมีการจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้ สสว.เร่งออกกฎกระทรวง เพื่อให้หน่วยการรัฐต้องจัดซื้อจากเอสเอ็มอีอย่างน้อย 30% คิดเป็นเงินประมาณ 4 แสนล้าน ดังนั้น ในส่วนนี้ผู้ประกอบเอสเอ็มอีมีโอกาสเข้าถึงแหล่งสนับสนุนเงินทุนได้
นอกจากนี้ สสว. ยังจะมีการออกมาตรการให้การจัดซื้อจากภาคเอกชนรายใหญ่ประมาณ 1.4 หมื่นราย หรือเอสเอ็มอีด้วยกัน โดยสามารถนำมาหักภาษีค่าใช้จ่ายได้ถึง 200% และหวังว่าจะทำให้เกิดการขยับในธุรกิจเอสเอ็มอีเร็วขึ้น อีกทั้ง ยังจะมีมาตรการขยายตลาดการซื้อ-จ้างระหว่างรัฐกับรัฐในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยับของเอสเอ็มอีได้เป็นกอบเป็นกำในระดับรายได้แสนล้านบาทในอนาคต
ช่องทางเข้าถึงการอุดหนุนของรัฐ
ดร.วีระพงศ์ กล่าวว่า ช่องทางจะเข้าถึงการอุดหนุนจากรัฐนั้น ถูกบรรจุอยู่ในแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันอยู่ฉบับที่ 4 เริ่มในปี 2560-2564 ถึงที่สุดแล้ว การเข้าถึงและเป็นเจ้าของกิจการใหม่ต้องเริ่มจากการ “เห็นโอกาส”เพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งสำคัญด้านหลัก สำหรับแนวคิดจากระบบการเงินแบบดั่งเดิมแล้ว จึงช่วยผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ได้เลย เพราะเน้นพิจารณาโอกาสด้วยวิธีการวิเคราะห์การลงทุนด้วยแนวคิดแบบสวอต (SWOT)
ถึงที่สุดแล้ว ผู้นำที่มุ่งหวังเป็นผู้ประกอบการใหม่ มักมีกระบวนการจากขั้นตอนคิดทำ แล้วลงมือทำ ต้องเรียนรู้ และพร้อมปรับเปลี่ยนปรับตัวใหม่ได้ ดังนั้น แผนธุรกิจเอสเอ็มอีของ สสว.จะเริ่มจากการมองภาพรวมของกิจการคือ การเริ่มต้น เติบโต แข็งแร็งมั่นคง หรือปรับเปลี่ยนไปสู่เส้นทางกิจการอื่น
“สิ่งสำคัญ สสว.ให้ความสำคัญกับบุคคลเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่ โดยเน้นพิจารณาถึงโอกาสการทำกิจการ ไม่ได้ใส่ใจสวอต เพราะสวอต ทำให้ไม่มีโอกาสได้ทำธุรกิจ เนื่องจากการเริ่มต้นใหม่จุดแข็งแทบไม่มี แต่ควรเริ่มจากการเห็นโอกาส (Opportunity) เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องดูอย่างอื่น อีกทั้งเวลาเริ่มต้นไม่สามารถขอเงินลงทุนจากคนอื่นได้ และระบบการเงินปกติที่มีอยู่แทบช่วยผู้ประกอบการเริ่มต้นใหม่ไม่ได้เลย”
ดร.วีระพงศ์ ยกตัวอย่างผู้ประกอบการที่มองหาโอกาสเป็นว่า มีผู้ประกอบการคนหนึ่งเข้ารับอบรมความรู้เกี่ยวกับการทำกิจการออนไลน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แต่คนนี้กลับมองโอกาสเป็น จึงเปลี่ยนไปขายสินค้าที่เกี่ยวกับกิจการออนไลน์ที่ผู้เข้าอบรมต้องใช้ จนทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากที่รับเดือนละ 2-3 หมื่นบาท ขยับเป็นเดือนละกว่าล้านบาท ทั้งนี้ รายได้จึงเกิดจากการหาโอกาสทำกิจการเป็น ซึ่งสิ่งนี้ สสว.เน้นพร้อมให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม หากนำความคิดที่จะขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับคนขายของออนไลน์ ไปหาธนาคาร เพื่อเจรจาขอรับสนับสนุนเงินลงทุนใหม่ เชื่อว่าคงถูกปฎิเสธจากธนาคารแน่นอน เพราะเป็นไปไม่ได้ เนื่อจากระบบธนาคารมักพิจารณาโดยการวิเคราะห์สวอตเป็นหลัก
ส่วนหลักการที่หน่วยงานรัฐกำหนดในการจัดซื้อจัดจ้างนั้น มีเกณฑ์ไว้ 2 วิธีสำคัญคือ 1. การจัดซื้อจัดจ้างด้วย “วิธีคัดเลือก” ต้องเลือกผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดนั้นจำนวน 3 ราย (ถ้าไม่มีจึงขยับไปพิจารณาจังหวัดอื่น) และ 2.วิธีการการประมูล ซึ่งกำหนดในสาระสำคัญว่า กิจการเอสเอ็มอี สามารถเสนอราคาประมูลที่แพงกว่ารายใหญ่ได้ประมาณ 10%
กลไกสนับสนุนขับเคลื่อนและผลักดัน
เมื่อโควิด-19 ก่อผลกระทบในวงกว้าง ทั้งกิจการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน และการบริการต่างๆได้รับวิกฤตทางธุรกิจอย่างหนักหนาสาหัส ประกอบกับเมื่อ สสว.ต้องการให้เกิด จีดีพี เพิ่มขึ้น จึงมุ่งหวังให้เกิดผู้ประกอบการใหม่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มตามมา ดังนั้น ผู้ประกอบการใหม่ควรออกจากระบบวิธีคิดการทำกิจการแบบเดิมๆ แล้วมองหาโอกาสสร้างกิจการที่แตกต่างขึ้นมาใหม่
ดังนั้น โอกาสของผู้ประกอบการใหม่ นอกจากมีแนวคิดทำกิจการใหม่แล้ว จึงควรศึกษาช่องทางแหล่งเงินทุนจากหน่วยงานรัฐและเอกชน สิ่งสำคัญควรพิจารณาแผนงานลงทุนในแต่ละปี และเข้าถึง แล้วนำเสนอสิ่งที่ตลาดหรือความต้องการตามแผนงานนั้น เพราะทุกกระทรวง หน่วยงานรัฐจะมีแผนกิจการเอสเอ็มอีอยู่ทั้งสิ้น
อีกทั้ง ปัจจุบัน สสว.ได้จัดทำบิ๊กดาต้าหรือศูนย์รวมข้อมูลขนาดใหญ่ของธุรกิจเอสเอ็มอีไว้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใหม่ได้เริ่มต้นกิจการหรือปรับตัวเปลี่ยนแปลงแนวทางธุรกิจ โดยจะทำให้เห็นข้อมูลสำคัญบางอย่าง เกี่ยวกับโครงสร้างธุรกิจและการกระจายรายได้เอสเอ็มอีทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งแต่ละปีจะมีผู้ประกอบการใหม่จดทะเบียนประมาณ 6-7 หมื่นราย และเลิกกิจการประมาณปีละ 4 หมื่นราย
ศูนย์ข้อมูลนี้ ยังจำแนกถึงประเภทกิจการที่ทำ รวมทั้งวิคราะห์ค่าเฉลี่ยต้นทุนเป็นรายจังหวัด มีทั้งการย่อยข้อมูลให้ผู้ประกอบการเข้าใจ แล้วตัดสินใจสร้างโอกาสกิจการใหม่ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดกลไกการให้บริการของหน่วยงานรัฐเชิงบูรณการ และยังมีอคาเดมี มาช่วยเติมความรู้กับการทำกิจการแต่ละประเภท
อีกอย่างในศูนย์ข้อมูลนี้ สสว.เริ่มจัดทำการพัฒนาเอสเอ็มอีด้วยระบบ BDS คือในปี 2565 จะตั้งงบประมาณ 80 ล้านบาทเพื่อให้การส่งเสริมเงินลงทุนให้ผู้ประกอบการ 3 ล้านราย รวมทั้งมีการช่วยเหลือที่ผ่านการส่งเสริมผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และระบบที่ผ่านการส่งเสริมจาก สสว. มีวงเงินอยู่ประมาณกว่า 4 พันล้าน เพื่อฟื้นฟูกิจการรายย่อย
กลับสู่หน้าหลัก โครงการผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลง คลิก
ติดตามข้อมูลข่าวสานของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv