skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
จากโรงงานถึงเรือนจำ: มาตรการ Bubble & Seal คืออะไร จะใช้ได้ผลไหมใน ‘ราชทัณฑ์คลัสเตอร์’

จากโรงงานถึงเรือนจำ: มาตรการ Bubble & Seal คืออะไร จะใช้ได้ผลไหมใน ‘ราชทัณฑ์คลัสเตอร์’

จากโรงงานถึงเรือนจำ: มาตรการ
Bubble & Seal คืออะไร
จะใช้ได้ผลไหมใน ‘ราชทัณฑ์คลัสเตอร์’

หมายเหตุกล่าวนำ: บทความภายใต้ชื่อดังกล่าวนี้ เขียนโดย “นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก” ลงใน  https://thestandard.co/bubble-and-seal/ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 มูลนิธิสัมมาชีพ เห็นว่าน่าสนใจและจะได้องค์ความรู้ยิ่งขึ้น จึงนำมาเสนออีกครั้งพร้อมรูปประกอบทั้งหมด ไม่มีแก้ไขใดๆ ทั้งนี้โปรดอ่านจากต้นฉบับจริงอีกครั้ง ตามลิงค์ข้างต้น


จากโรงงานถึงเรือนจำ: มาตรการ Bubble & Seal คืออะไร จะใช้ได้ผลไหมใน ‘ราชทัณฑ์คลัสเตอร์’

โดย นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก

HIGHLIGHTS

  • มาตรการที่ได้ยินบ่อยๆ ในการระบาดของ ‘ราชทัณฑ์คลัสเตอร์’ คือ ‘บับเบิลแอนด์ซีล’ (Bubble & Seal) แต่ ศบค. ยังไม่เคยอธิบายอย่างชัดเจนว่ามาตรการนี้คืออะไร
  • จุดเริ่มต้นของมาตรการ Bubble & Seal ต้องย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนมกราคมต่อกุมภาพันธ์ 2564 ที่มีการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ จ.สมุทรสาคร โดย Seal ใช้กับโรงงานที่พนักงานสามารถพักในโรงงานได้ ส่วน Bubble ใช้กับโรงงานที่พนักงานพักอยู่นอกโรงงาน แต่จะควบคุมให้พนักงานไป-กลับโรงงาน-หอพักเท่านั้น
  • ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเรือนจำกับโรงงานคือความแออัดและระยะเวลาที่อยู่ร่วมกัน เพราะผู้ต้องขังไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ และยังต้องอยู่ร่วมกันในห้องขังเป็นเวลานาน ทำให้ท้ายที่สุดแล้วอาจเกิดการระบาดในเรือนจำจนกว่าจะถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ประมาณ 70% ในแดนนั้นๆ มาตรการ Bubble & Seal จึงแค่ลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรายงานเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ ตั้งแต่ช่วงต้นเมษายน 2564 ที่มีการระบาดในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เรือนจำกลางเชียงใหม่ช่วงปลายเมษายน เรือนจำในเขตกรุงเทพฯ ต้นเดือนพฤษภาคม และตอนนี้ข่าววนกลับไปกลับมาระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ มาตรการที่ได้ยินบ่อยๆ คือ ‘บับเบิลแอนด์ซีล’ (Bubble & Seal)

แต่ ศบค. ยังไม่เคยอธิบายอย่างชัดเจนว่ามาตรการนี้คืออะไร

ถึงแม้คำว่า Bubble จะแปลว่า ‘ฟองอากาศ’ ที่ลอยขึ้นลงในอากาศได้ หมายถึงการควบคุมการเคลื่อนย้ายไม่ให้ปะปนกับผู้อื่น เช่น การจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศ (Travel bubble) ส่วน Seal จะแปลว่า ‘การปิดผนึก’ หมายถึงการหยุดไม่ให้เคลื่อนย้ายไปที่อื่น แต่มาตรการ Bubble & Seal ไม่ใช่แค่การจำกัดการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังเท่านั้น

Bubble & Seal ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 นพ.กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวกรณีการระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ว่า ใช้มาตรการ Bubble & Seal เข้ามาดูแล โดยมีการจำกัดการเคลื่อนย้าย แยกผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงออกมาดูแลเฉพาะ เช่น ผู้มีอายุมากกว่า 55 ปี ผู้มีโรคประจำตัว

สำหรับการจำกัดการเคลื่อนย้าย ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจำกัดการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกเรือนจำ เช่น เรือนจำ-ศาล (มีการแถลงข่าวภายหลังว่าใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน) เรือนจำ-ชุมชน, เรือนจำ-เรือนจำอื่นๆ หรือจำกัดการเคลื่อนย้ายระหว่างแดนด้วย เพราะในการแถลงข่าวระบุว่าการระบาดเริ่มจากผู้ต้องขังรับใหม่ในห้องกักตัวแรกรับ

 

ต่อมาเกิดการระบาดในแดน 4 จากผู้ต้องขังรับใหม่ที่ย้ายเข้าไป และแพร่ระบาดต่อไปยังแดนอื่นจากกิจกรรมที่ทำร่วมกันในตอนกลางวัน ทั้งในแดนตนเองและแดนอื่นๆ เช่น แดนการศึกษา แต่จะเห็นว่าการจำกัดการเคลื่อนย้ายภายในเรือนจำทำได้ลำบาก เพราะผู้ต้องขังมีจำนวนมาก และสถานที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับกับจำนวนมากนี้

โควิด-19 ไม่ใช่โรคแรกที่ระบาดในเรือนจำ ก่อนหน้านี้จะมีไข้หวัดใหญ่และหัดระบาดในเรือนจำเป็นประจำทุกปี ทั้ง 2 โรคนี้ติดต่อผ่านทางเดินหายใจเช่นกัน ความแออัดและการระบายอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงของการระบาด ความโชคดีบนความโชคร้ายคือ ไข้หวัดใหญ่มีทั้งวัคซีนป้องกันและยารักษาแล้ว ทำให้ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง

จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 เรือนจำไม่มีพื้นที่เพียงพอ ถ้าจะเปรียบเทียบกับสถานกักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศจะจัดเป็นห้องแยกเดี่ยว หรืออย่างมากไม่เกิน 2-3 คน แต่เรือนจำจะกักกันเป็นห้องใหญ่หลักสิบคน และยังมีเงื่อนไขของการเข้า-ออกเรือนจำ ทำให้ต้องเริ่มนับวันกักตัวใหม่ด้วย

กลับมาที่ Bubble & Seal นพ.กิตติพันธุ์ ยังระบุว่ามีการคัดแยกผู้ต้องขัง แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มที่เหลือ โดย

  • กลุ่มผู้ป่วย ซึ่งได้รับการตรวจหาเชื้อ จะถูกแยกไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ (มีการแถลงข่าวภายหลังว่าล็อกแดน 6 ให้เป็นพื้นที่เฉพาะในการดูแลผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19)
  • กลุ่มที่เหลือ จะมีการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) หลังจากทำ Bubble & Seal ครบ 14 วัน เพื่อประเมินสถานการณ์การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันจะได้รับการตรวจหาเชื้อเมื่อครบ 28 วัน

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ ศบค. ควรชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน กล่าวคือ Bubble & Seal ภายใต้ข้อจำกัดของเรือนจำมีวัตถุประสงค์อะไร ระหว่างการหยุด/การชะลอการระบาด การลดอัตราป่วยเสียชีวิต หรือการป้องกันการระบาดออกสู่ชุมชน และมีขั้นตอนอย่างไร เช่น เมื่อคัดกรองเชิงรุก 100% แล้ว ผู้ที่ยังไม่พบเชื้อจะดำเนินการอย่างไรต่อ

ต้นแบบของมาตรการ Bubble & Seal

สำหรับจุดเริ่มต้นของมาตรการ Bubble & Seal ต้องย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนมกราคมต่อกุมภาพันธ์ 2564 ที่มีการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งขณะนั้นยังคงตรวจพบการระบาดในโรงงานขนาดใหญ่อยู่ กระทรวงสาธารณสุขจึงออกแบบมาตรการ ‘การจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม’ (Bubble and Seal) ขึ้น

เป็นมาตรการต่อจากการระดมค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม โดย Seal ใช้กับโรงงานที่พนักงานสามารถพักในโรงงานได้ ส่วน Bubble ใช้กับโรงงานที่พนักงานพักอยู่นอกโรงงาน แต่จะควบคุมให้พนักงานไป-กลับโรงงาน-หอพักเท่านั้น (แต่ในทางปฏิบัติ พนักงานบางส่วนเดินเท้ากลับที่พัก และอาจแวะซื้อของที่ตลาด)

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์ “เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก เน้นในโรงงานขนาดใหญ่ เป้าหมายลดความเสี่ยงในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย และลดความเสี่ยงของกลุ่มพนักงาน เพื่อควบคุมโรคให้ได้ตามแผนที่วางไว้”

แต่อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นว่า Bubble & Seal ไม่ใช่แค่การจำกัดการเคลื่อนย้ายผู้คนเท่านั้น เพราะผู้ที่ยังตรวจไม่พบเชื้อครั้งแรกอาจเป็นผู้ติดเชื้อในภายหลัง และแพร่เชื้อต่อให้กับผู้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน/เพื่อนร่วมงานได้ ระหว่างนั้นจังหวัดได้มีการประชุมร่วมกันกับหลายฝ่าย เช่น กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทย์ฯ มหาวิทยาลัยต่างๆ

จนได้ข้อสรุปว่า จะมีการตรวจหาภูมิคุ้มกัน 2 ครั้ง คือ เมื่อครบ 14 และ 28 วัน โดยการตรวจหาภูมิคุ้มกันในครั้งแรก หากผลเป็นบวก แปลผลได้ 2 แบบ คือ เพิ่งติดเชื้อ (ภูมิคุ้มกันจะเริ่มตรวจพบหลังติดเชื้อเกิน 1 สัปดาห์) หรือติดเชื้อมานานแล้ว ส่วนการตรวจหาภูมิคุ้มกันครั้งที่ 2 หากผลเป็นบวกจะแสดงว่าเพิ่งติดเชื้อภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 แนวทาง Bubble & Seal ในโรงงาน 

(อ้างอิง: แนวทางการเฝ้าระวังฯ กรมควบคุมโรค)

 

เพราะฉะนั้น แนวคิดของ Bubble & Seal ค่อนไปทางหลักการลดผลกระทบ (Mitigation) มากกว่าหลักการควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด (Containment) เพราะลดการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน และไม่ได้กักกันผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง แต่ใช้การสวมหน้ากาก และการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร รวมถึงการแยกพนักงานทั้งหมดออกจากชุมชนแทน

การประยุกต์ใช้ Bubble & Seal ในเรือนจำ

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเรือนจำกับโรงงานคือความแออัดและระยะเวลาที่อยู่ร่วมกัน เพราะผู้ต้องขังไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ และยังต้องอยู่ร่วมกันในห้องขังเป็นเวลานาน ทำให้ท้ายที่สุดแล้วอาจเกิดการระบาดในเรือนจำจนกว่าจะถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ประมาณ 70% ในแดนนั้นๆ มาตรการ Bubble & Seal จึงแค่ลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรายงานเท่านั้น

 

หากไม่มีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การจัดหาหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าให้เพียงพอ การฉีดวัคซีนซึ่งปัจจุบันวัคซีนที่ไทยมีและมีผลการศึกษาว่าสามารถลดการแพร่เชื้อได้คือวัคซีน AstraZeneca ส่วนวัคซีน Sinovac อาจฉีดในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว แต่ก็ต้องรอการสร้างภูมิคุ้มกันหลังฉีดเข็มที่ 2 (รวมประมาณ 1 เดือน)

สุดท้าย ศบค. ควรประสานงานระหว่างกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุขโดยเร็ว และไม่ต้องให้รัฐมนตรีแถลงขอความช่วยเหลือกันผ่านสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังมีเรือนจำที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ขอให้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยเฉพาะในจังหวัดที่พบการระบาดในชุมชน และอาจมีมาตรการเพิ่มเติมจากบทเรียน ‘คลัสเตอร์เรือนจำ’ ก่อนหน้า

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top