คนขยะ
คนขยะ
ภาพ/บทความ: มะลิบานกลางคืน
สัปดาห์นี้ ได้มีโอกาสลงพื้นที่ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป้าหมายคือการติดตามผลการดำเนินงานของผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ของมูลนิธิสัมมาชีพ นั่นคือ ผู้กองยอดรัก หรือ สถาพร สกลทัศน์ LFC รุ่นที่ 4 ซึ่งผันตัวเกษียณตนเองจากกองทัพเรือมาสู่กระบวนการสร้างเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการปลูกฝังและกระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชนมากกว่าการรอรับจากภายนอก ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการที่ฐานราก หนึ่งในองค์ความรู้ในหลักสูตรการเป็นผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มูลนิธิสัมมาชีพจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องมา 10 รุ่นแล้ว
เราเริ่มออกเดินทางจากสนามบินเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่ขุนวาง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนขยะ หนึ่งในผลผลิตที่ผู้กองยอดรัก ร่วมกับชุมชนปกากะญอขับเคลื่อนงานร่วมกัน ที่โรงเรียนขยะแห่งนี้เราได้พบกับ หนุ่มวัยฉกรรจ์คนหนึ่ง บุคลิกดูอ่อนน้อม ถ่อมตน เรียบง่าย พูดจากนุ่มนวล แบบฉบับหนุ่มปกากะญอ นามเขาคือ คิกขุ หรือ ชื่อปกากะญอ ว่า เก่อเส่ทู ดินุ ชื่อไทย นายเจริญ
คิกขุเล่าว่า เขาเฝ้ามองขยะที่นับวันจะยิ่งเติบโตมากขึ้น หากเป็นเงินทองคงมากมายมหาศาล แต่ทว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เขาเห็นมันเกิดจากคนในชุมชน คนนอกชุมชน นักท่องเที่ยว ที่มาแล้วนำขยะมาทิ้งในชุมชนของเขา มันสะสมมากว่า 10-20 ปี ซึ่งยังไม่เห็นมีหน่วยงานไหนแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้
คิกขุ เริ่มจากตนเอง เขาเริ่มออกตระเวนเก็บขยะ เพื่อหวังลดขยะในชุมชน เมื่อเก็บมาก็เอามาเผา เพราะคิดว่ามันคือการลดปัญหาขยะในชุมชน ซึ่งเขาไม่รู้ว่ามันจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้างจากการเผา เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาทำได้ จากนั้นเขาเริ่มใช้ดนตรีเป็นสื่อในการชักชวนเด็กๆ ในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บขยะ โดยใช้กุศโลบายว่าใครอยากเรียนดนตรีคิกขุจะสอนให้ แต่ต้องมาช่วยเขาเก็บขยะในวันหยุดเรียน วิธีนี้ดูเหมือนจะได้ผลเพราะมีเด็กสนใจมาเข้าร่วมกระบวนการจากหนึ่งเป็นสอง และปัจจุบันมีเด็กที่มาเรียนดนตรีและช่วยเก็บขยะในโรงเรียนแห่งนี้เกือบ 20 คน และขยายไปสู่ครอบครัวของเด็กๆ และชุมชน เขามองว่า ขยะมาจากคนเพราะฉะนั้นคนจึงเป็นคนที่จะจัดการแก้ไขปัญหานี้
คิกขุ เล่าว่า เขาเริ่มมารู้จักผู้กองยอดรัก หรือ ผู้กอง ที่ชาวปกากะญอเรียกกัน และเริ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเรื่องแนวคิด วิธีการจัดการกับผู้กองในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะในชุมชน ผู้กองดึงลูกสาวและเพื่อนๆ ที่เรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี น้องกลอย น้องฝน น้องเจน 3 สาววัยสดใส ที่มาพร้อมประสบการณ์จากรั้วมหาวิทยาลัย นำวิชาความรู้ที่ได้บ่มเพาะมาใช้ในพื้นที่ ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ล้ำค่าของน้องๆ ในการร่วมคิดค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาขยะ
อิฐขยะ หรือ อิฐขยะสัมมาชีพ เป็นจุดเปลี่ยนของการคิดค้นวิธีการลดปัญหาขยะ แต่นำมาซึ่งการคืนประโยชน์กลับสังคม อิฐขยะ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ด้วยการนำส่วนประกอบจากขยะที่มีมากที่สุด นั่นคือ พลาสติก โดยผ่านกระบวนการนำพลาสติกมาทำเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 3 กระสอบ ผสมกับทราย 2-3 แก้ว แล้วนำไปเผาก็จะได้อิฐขยะมา 1 ก้อน ส่วนขยะประเภทขวดแก้ว คิกขุและเด็กๆ ได้ร่วมกันออกแบบและช่วยกันทำเป็นห้องน้ำ ทางเดิน ตามแต่จินตนาการของพวกเขาจะสร้างได้ ดูแล้วก็สวยงามเลยทีเดียว
นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลคนขยะที่มีความตั้งใจดี ดังนั้น ปัญหาต่างๆ จึงยังมีให้แก้ไขต่อไป ทั้งเรื่องการบำบัดสิ่งแวดล้อมจาการเผาอิฐขยะ หรืออื่นๆ ที่ทั้งตัวคิกขุ ผู้กองยอดรัก น้องๆ อาสา และคนในชุมชน กำลังคิดหาวิธีแก้ไขทำอย่างไรที่จะลดมลพิษโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
หลายคนมองว่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่คิกขุ มองว่า ในเมื่อต้นเหตุยังไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้ ปลายทางอย่างเขาจึงริเริ่มแก้ไขในสิ่งที่เขาคิดว่าเขาทำได้ เพื่อให้ย้อนกลับไปหาต้นทาง ฟังดูแล้วน่าแปลก ที่ปลายทางตัวเล็กๆ อย่างคิกขุ กลับคิดที่จะหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านของเขาทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าวิธีการนี้มันถูกหรือไม่ แต่มันเป็นแนวคิดและกระบวนการสร้างจิตสำนึกจากคนที่อยู่กับขยะอย่างเขา คนขยะคนนี้กำลังจะเปลี่ยนขยะที่สังคมรังเกียจเป็นขยะที่คนอยากได้ มาร่วมกันสร้างจิตสำนึกในสังคมด้วยการไม่ทิ้งขยะในชุมชนและที่สาธารณะ เพื่อรักษาธรรมชาติให้อยู่คู่เราตลอดไป
“ขยะมาจากคน คนน่าจะละอายใจเวลาเห็นกองขยะในที่ๆ สัตว์มันเคยมาหากิน”
คิกขุ (เก่อเส่ทู ดินุ)