skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
การเปิดประเทศมีความเสี่ยงสูง  มาตรการป้องกันโรคยังอ่อนแอ

การเปิดประเทศมีความเสี่ยงสูง มาตรการป้องกันโรคยังอ่อนแอ

การเปิดประเทศมีความเสี่ยงสูง

มาตรการป้องกันโรคยังอ่อนแอ

 

 

ในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำนั้น สิ่งสำคัญ คือ ไทยควรมีผลการฉีดวัคซีนครบโดสอย่างน้อย 70% ของประชากร เพราะด้านหนึ่งจะเป็นสิ่งจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาไทยแล้วรู้สึกปลอดภัย  อีกด้านหนึ่งคนไทย ซึ่งเป็นเจ้าบ้านเกิดความมั่นใจต่อการต้อนรับโดยไม่หวั่นกลัวจะแพร่เชื้อโควิดให้ผู้มาเยื่อน หรือเกรงจะได้รับเชื้อจากคนต่างประเทศเช่นกัน

 

ดังนั้น ผลการฉีดวัคซีนครบโดสจึงเป็นปัจจัยเบื้องต้นให้การเปิดประเทศ อีกอย่างบทเรียนจากการเปิดประเทศของหลายประเทศนั้น มีข้อสรุปตรงกันอย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสองการติดเชื้อไม่รุนแรงถึงขั้นหามส่งโรงพยาบาล

 

แม้ประเทศนั้นๆ ฉีดวัคซีนครบโดส แต่ก็ติดและแพร่เชื้อโควิดได้อยู่ดี โดยประเด็นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อของไทยยืนยันมาตลอด พร้อมเตือนอย่าใช้ชีวิตประมาท ต้องรักษาระยะห่าง อย่าลดการป้องกัน ต้องใส่หน้ากากอนามัย มั่นล้างมือเป็นประจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิดในเบื้องต้นที่ควรต้องทำให้เคยชินกับการใช้ชีวิต

 

ฉีดวัคซีนครบโดสบทเรียน ตปท.

บทเรียนเบื้องต้นการเปิดประเทศจากหลายประเทศล้วนดำเนินการไม่แตกต่างกันคือ ประชากรได้รับวัคซีนครบโดสอย่างน้อย 70% เช่น เดนมาร์ก ชิลี สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เป็นต้น เพราะการฉีดวัคซีนครบโดสช่วยยับยั้งการติดเชื้อโควิดจากหนักให้เป็นเบาได้

 

สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนไม่ได้เก็บรับบทเรียนการเปิดประเทศบนพื้นฐานการฉีดซีนครบโดสมาดำเนินการ ขณะเดียวกันกลับใช้ข้ออ้างว่า เมื่อต่างประเทศเปิดให้ออกนอกประเทศได้ ไทยจึงควรรีบชิงเปิดประทศรองรับนักท่องเที่ยวให้เดินทางมา

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเมื่อ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยย้ำถึงความจำเป็นในช่วงท่องเที่ยวเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม และต่อเนื่องถึงมกราคมปี 2565 ไทยไม่ควรเสียโอกาสในการดึงนักท่องเที่ยวจากอังกฤษ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่งเริ่มผ่อนคลายการเดินทางไปต่างประเทศของประชาชน

ขณะเดียวกันความเห็นของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับระบุว่า ต้องช่วงชิงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 และไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ไม่เช่นนั้นไทยคงสู้ประเทศอื่นไม่ได้

 

“ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมสำหรับในช่วงฤดูหนาวของทางยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ดังนั้น ตรงนี้เราจึงต้องปรับว่าทำอย่างไรให้เกิดความคล่องตัวในการตรวจ ATK ที่สนามบินได้เร็วขึ้น แต่ทราบว่าทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว โดยมีต้นแบบที่ภูเก็ตมาแล้ว จึงเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะผ่านไปด้วยความราบรื่น” นายพิพัฒน์กล่าว

 

นัยยะการช่วงชิงและดึงดูดนักท่องเที่ยวนั้น เน้นไปที่เปิดโอกาสให้กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อโควิดได้เข้าประเทศ โดยฉีดวัคซีนครบโดสแล้วไม่มีการกักตัว พร้อมกับเร่งรัดใช้การตรวจ ATK ให้เร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงนั้น ไทยกลับไม่ใส่ใจถึงการให้ประชากรได้ฉีดวัคซีนครบโดส ตามแบบอย่างของต่างประเทศ ดังนั้น การเปิดประเทศของไทยจึงดำเนินการไปอย่างกลับด้านของต่างประเทศ นั่นเท่ากับมีโอกาสให้เกิดความสุ่มเสี่ยงขยายโรคโควิดในอนาคตได้อย่างน่าระทึกยิ่ง

 

ไทยคิดใหญเดินสวนโควิด

แม้ข้อมูลการฉีดวัคซีน ที่กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมถึงวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ในภาพรวมไทยฉีดวัคซีนได้มากถึง 64 ล้านโดส แต่พิจารณาการฉีดครบโดสเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต้านยันเชื้อโควิดแล้วมีจำนวน 25 ล้านคนเศษ คิดเป็น 35% ของประชากร

ส่วนการติดเชื้อรายวัน ไทยมียอดเพิ่มค่อนข้างสูงระดับกว่าหมื่นคนต่อเนื่องมาตลอดทั้งเดือนตุลาคม ข้อมูลเมื่อ 16 ตุลาคมมีผู้ติดเชื้อ 10,648 คน ยอดสะสมรวม 1.76 ล้านคน ในจำนวนนี้ไม่รวมกับผลการตรวจด้วย ATK ที่มีผลเข้าข่ายติดเชื้อเมื่อ 16 ตุลาคมจำนวน 2,065 คน รวมสะสม 2.27 แสนคน

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยรักษาอยู่กว่าแสนคน ปัจจุบันอาการหนัก 2,845 คน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 668 คน ดังนั้น สถานการณ์โควิดของไทยจัดว่า เข้าขั้นหนักเอาการ โดยการฉีดวัคซีนกลับเชื่องช้า เนื่องจากจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อจากต่างประเทศส่งมอบอืดอาด สวนทางกับคำพูดออกตัวรับประกันว่าได้จัดหาไว้มากมายที่จะส่งมอบในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ซึ่งเมื่อรวมวัคซีนหลักทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซเนกา ไฟเซอร์ และวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม จะมากถึง 71 ล้านโดส นั่นมากจนล้นแขนประชาชนเกินเพียงพอกับความต้องการของประชาชนเสียอีก

 

แต่จนถึงขณะนี้เข้ามาถึงกลางเดือนตุลาคมแล้ว วัคซีนสั่งซื้อที่ว่ายังไม่ทยอยมาสักหยด คงมีแต่วัคซีนแอสตร้าฯบริจาคจากญี่ปุ่นประมาณ 3.85 แสนโดสและจากเกาหลีอีก 4.7 แสนโดส ราวกับเพื่อใช้แก้ขัดตามรูปสูตรฉีดไขว้ที่คิดค้นปรับเปลี่ยนได้ตามผลทดลองให้ออกมามีภูมิคุ้มกันสูงสุดเท่าที่ไทยมีวัคซีนพร้อมฉีด ดังนั้น สูตรฉีดวัคซีไขว้ที่คิดค้นกัน เปรียบเสมือนการแก้ปัญหาวัคซีนในไทยไม่เพียงพอฉีดนั่นเอง

 

8 เดือนปี 64 นักท่องเที่ยวมาจิ๊บๆ

ก็ดีอยู่…กับข้ออ้างเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นโอกาสงามในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาไทยในช่วงเที่ยวฤดูหนาว มาเคาท์ดาวน์รับปีใหม่ 2565 ซึ่งมีอากาศตรงความต้องการของชาวยุโรปและจีน แม้ไทยจะเปิดเงื่อนไขแบบพร้อมทุกด้านอำนวยความสะดวกและเข้าตามแผนช่วงชิงนักท่องเที่ยวก็ตาม แต่เงื่อนไขภายในประเทศที่มาตรการด้านสาธารณสุขยังไม่เป็นใจหนุนนำการฟื้นทางเศรษฐกิจแล้ว ความสุ่มเสี่ยงกับการระบาดครั้งใหม่ย่อมกระทบกับประชาชนไทยอย่างยากหลีกเลี่ยงได้

 

การระบาดของโควิดช่วงปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ด้วยจำนวนขยับเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ มียอดผู้ติดเชื้อรายวันมากเป็นหมื่นคนต่อวัน รวมสะสมมากกว่า 1.7 ล้านคน เสียชีวิตสะสมกว่า 1.8 หมื่นคน สถานการณ์แบบนี้สะท้อนถึงมาตรการควบคุมทางสาธารณสุขยังไม่เข้มข้น ประกอบกับมีการฉีดวัคซีนครบโดสแค่ 35% ของประชากรแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยน้อยลงอย่างต่อเนื่องตลอดปีครึ่งที่ผ่านมา

 

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มั่นใจว่า มาตรการควบคุมโควิดของไทยประสบความสำเร็จ จึงพร้อมเปิดประเทศ ให้ได้ความสำเร็จนั้น ถ้าเครื่องมือการท่องเที่ยวเป็นตัวชี้วัดแล้ว ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 8 เดือนของปี 2564 บ่งบอกได้ว่า มีจำนวนน้อยลงอย่างมาก นั่นเท่ากับเป็นการบ่งบอกถึงมาตรการโควิดของไทยล้มเหลวและขาดประสิทธิภาพ

 

ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานจำนวนและรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคมมีจำนวน 426,192 คน รายได้รวมประมาณ 8,531 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันในปี 2563 ทั้งจำนวนคนและรายได้ประมาณ  96.82% และ 97.18% ตามลำดับ

 

เมื่อพิจารณาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสำคัญๆแล้ว พบมาจากยุโรปจำนวน 31,911 คน ที่สำคัญเช่น ฝรั่งเศล 4,356 คน เยอรมันนี 5,680 คน อังกฤษ 7,324 คน นอกจากนี้มาจากสหรัฐ 9,727 คน แคนาดา 1,377 คน จากจีน 4,999 คน ซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 แล้ว นักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้ล้วนมีจำนวนลดลงถึง 97-99% ทั้งสิ้น

 

ดังนั้น ข้อมูลนี้แม้อ้างเป็นช่วงโควิดจึงได้ผลกระทบก็ตาม แต่ส่วนหนึ่งย่อมมีความเป็นไปได้ถึงความไม่มั่นใจในการจัดการควบคุมโควิดของไทยด้วย จากผลกระทบเช่นนี้ จึงไม่ได้สะท้อนว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมและต่อเนื่องถึงมกราคมปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาไทยได้มากขึ้นในระดับแนวโน้ม 100,000 คนต่อเดือนตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ในการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้

 

แล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติไปที่ไหนกันบ้าง ในช่วง 8 เดือนของปี 2564 ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวระบุว่า เที่ยว กทม.มากสุด 308,596 คน ไปจังหวัดชายทะเล เช่น ประจวบคีรีขันธ์ 745 คน ชลบุรี 7,868 คน ระยอง  1,761 คน ภูเก็ต 36,680 คน ระนอง 300 คน พังงา 6,233 คน กระบี่ 1,949 คน สุราษฎร์ธานี  3,136 คน ยังมีขึ้นเหนือเที่ยวเชียงใหม่ 17,946 คน เชียงราย 3,013 คน ลำปาง 2,712 คน ลำพูน 1,050 คน แม่ฮ่องสอน 2,727 คน อีกทั้งไปอีสานชมเมืองบุรีรัมย์ 642 คน หนองคาย 461 คน และ อุดรธานี 163 คน

 

การรวบรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติดังกล่าวนั้น เป็นช่วงเวลา 8 เดือนของปี 2564 และเป็นช่วงที่โควิดการระบาดรุนแรง อีกอย่างวัคซีนไม่มีไม่มาตามสัญญาสั่งซื้อ จึงฉีดได้ล่าช้า ดังนั้นตัวเลขนักท่องเที่ยวใน 8 เดือนจึงจัดว่าเล็กน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2563 ย่อมพบจำนวนการลดลงมากถึง 99% ส่วนการประเมินว่า นักท่องเที่ยวคงทะลักเข้ามาไทยตามเงื่อนไขไม่กักตัวโดยขอให้ฉีดวัคซีนครบโดสนั้น ยังไม่มีเครื่องชี้ถึงความจูงใจต่างชาติให้มั่นใจได้ เมื่อภายในประเทศผู้คนยังแตกตื่น หวาดกลัวโควิดไปทั่วหัวระแหง

 

ดังนั้น ในสถานการณ์การฉีดวัคซีนครบโดสยังไม่มากจนถึงระดับสร้างภูมิคุ้มกัน 70% ของประชากร แต่ฉีดได้เพียง 35% จึงส่อแนวโน้มว่า การเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน เป็นการตัดสินใจไม่รอบคอบ มุ่งหวังเพียงการชิงโอกาสเอาสถานการณ์ท่องเที่ยวมาฟื้นเศรษฐกิจ โดยแลกด้วยความสุ่มเสี่ยงของคนไทยที่จะติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งยิ่งสร้างความปั่นป่วนอีกระลอกของการระบาดเชื้อโควิด

 

พล.อ.ประยุทธ์ มั่นใจว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องค่อยๆ เตรียมตัว กล้าที่จะเผชิญหน้ากับโควิด โดยมีความพร้อมเรื่องยารักษาและวัคซีนป้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปอีกไม่นาน เราก็จะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับโควิด เหมือนกับโรคภัยอื่นๆ ที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น

 

“ผมรู้ว่าการตัดสินใจแบบนี้มีความเสี่ยง ที่เกือบจะแน่นอนเลยว่า เมื่อเราเริ่มต้นการผ่อนคลายต่างๆ จะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น…เราต้องไม่ปล่อยโอกาสนี้ เพราะถ้าเราต้องเสียโอกาสในช่วงเวลาทอง ของการทำมาหากินไปอีกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ผมคิดว่าประชาชนคงรับมือไม่ไหวอีกต่อไป”

 

คงเป็นความเสี่ยงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประเมินแล้วว่าคุ้มค่ากับการช่วงชิงโอกาสทองสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ แล้วตัดสินใจบนความเชื่อจะคุมสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ได้ด้วยวัคซีนจำนวนมากและยารักษาที่สั่งซื้อเตรียมไว้พร้อม แต่ทุกความมั่นใจที่ว่าพร้อมนั้น ก็ยังไม่พร้อมมาตลอด 1 ปีครึ่งที่โควิดระบาด

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

 

Back To Top