การวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการใช้พลังงานทดแทน
การวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการใช้พลังงานทดแทน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ว่าจ้าง มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) ศึกษางานโครงการปรับปรุงระบบวิเคราะห์การใช้พลังงานทดแทนของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่ง เพื่อปรับปรุงระบบวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทดแทนดั้งเดิมของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ มพส. จึงได้ใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input Output Table) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เป็นเครื่องมือในการศึกษาครั้งนี้
ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input Output Table) หรือตาราง I-O จัดทำโดยสำนักงานบัญชีประชาชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายรัฐต่อตัวแปรเศรษฐกิจของประเทศ สภาพัฒน์ใช้ตาราง I-O เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน หรือการประกันราคาข้าวเปลือกเป็น 15,000 บาทต่อตัน เป็นต้น เพื่อประเมินว่าจะส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างใด โดยสามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้อย่างชัดเจน ทำให้รัฐทราบผลลัพธ์ของนโยบายและนำไปสู่การตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ในตาราง I-O จะประกอบไปด้วยข้อมูลที่มีรายละเอียดของโครงสร้างการผลิตและผลผลิตของสาขาเศรษฐกิจต่างๆ ครอบคลุมระบบเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันตาราง I-O ได้กำหนดสาขาการผลิตไว้ 180 สาขา ซึ่งสามารถค้นดูได้ในเว็บไซต์ของสภาพัฒน์
การนำตาราง I-O มาใช้กับงานศึกษาอื่นๆที่มีสาขาการผลิตซึ่งไม่ได้ระบุใน 180 สาขาของสภาพัฒน์ งานศึกษานั้นจะต้องทำการสำรวจข้อมูลโครงสร้างการผลิตของสาขาการผลิต 180 สาขารวมทั้งโครงสร้าง
การผลิตสาขาอื่นซึ่งไม่ได้ระบุใน 180 สาขาด้วย จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลผลแล้วนำมาปรับปรุงในตาราง
I-O จะได้ตาราง I-O ชุดใหม่ ซึ่งมีสาขาการผลิตอื่นรวมอยู่ด้วย ในงานศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบของพลังงานทดแทนต่อตัวแปรเศรษฐกิจของประเทศซึ่งตาราง I-O ไม่มีสาขาการผลิตพลังงานทดแทน มพส. จึงได้เพิ่มสาขาการผลิตพลังงานทดแทนเข้าไปในตาราง I-O ทั้งหมด 13 สาขาย่อย ได้แก่ สาขาพลังงานดั้งเดิมแยกเป็นฟืนและถ่าน สาขาไฟฟ้าแยกเป็นแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ น้ำเสีย ลม พลังน้ำขนาดเล็กและอื่นๆ เช่น แบล็คลิเคอร์ สาขาความร้อนแยกเป็น แสงอาทิตย์ ชีวมวล และสาขาเชื้อเพลิงชีวภาพแยกเป็นเอทานอล ไบโอดีเซล เมื่อได้ข้อมูลจากการสำรวจโครงสร้างการผลิตพลังงานทดแทน 13 สาขาย่อยรวมทั้งสาขาการผลิต 180 สาขาที่เกี่ยวข้อง จะได้ตาราง I-O ชุดใหม่ประกอบด้วยสาขาการผลิต 193 สาขาเป็นตาราง REPTIO (Renewable Energy Power and Thermal Input Output Table)
มพส. ขอนำเสนอตัวอย่างการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยจากพลังงานทดแทน โดยใช้ข้อมูลพลังงานทดแทนของประเทศในปี พ.ศ. 2560 และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2560 เป็นตัวแปร ดังนี้
ตารางที่ 1 แสดงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานทดแทน
จากตารางที่ 1 พอสรุปสาระสำคัญที่ได้จากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานทดแทนในปี พ.ศ. 2560 ดังนี้
- สร้างมูลค่าเพิ่มรวม (GDP) ได้ 118,738 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.77 ของ GDP ประเทศ
- กระจายรายได้หรือ GDP ดังกล่าวไปสู่สาขาการเกษตร อุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 5.4 และ 7.8 ตามลำดับ โดยมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นหลัก เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้จากการนำแกลบ
ใบอ้อย ทลายปาล์ม เศษไม้ และอื่นๆ มาขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล - เกิดการจ้างงาน 214,329 คน ทำให้เกิดรายได้รวม 50,266 ล้านบาทหรือประมาณ 20,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นหลัก รองลงมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
- ข้อที่น่าสนใจของการวิเคราะห์โดยใช้ตาราง I-O อีกแง่มุมหนึ่งคือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเกือบทุกสาขามีการอุดหนุนทางการเงินยกเว้นการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่ โดยมีการอุดหนุนรวมทั้งสิ้น 55,319 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงจากการอุดหนุนค่าไฟฟ้าของภาครัฐให้กับ
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเหล่านี้
เพื่อให้ทราบผลดีและผลเสียจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเปรียบเทียบกับการใช้
เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) ในปี พ.ศ. 2560 ที่ 2.4648 บาทต่อหน่วย นำมาผลิตไฟฟ้าทดแทนปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทนซึ่งมีปริมาณทั้งสิ้น 29,019.80 ล้านหน่วย จะได้ผลกระทบตามตารางท้ายนี้
ตารางที่ 2 เปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงฟอสซิล
จากตารางที่ 2 สามารถสรุปได้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หากพิจารณาเป็นรายสาขาเศรษฐกิจพบว่าเป็นประโยชน์เกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ดังนี้
- สร้างมูลค่าเพิ่มรวม (GDP) มากกว่าเป็นเงิน 62,092 ล้านบาท
- สร้างรายได้ให้กับสาขาการเกษตรมากกว่าเป็นเงิน 6,114 ล้านบาท
- สร้างรายได้ให้กับสาขาอุตสาหกรรมน้อยกว่าเป็นเงิน 16,666 ล้านบาท เป็นสาขาเดียวที่การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เปรียบเพราะรายได้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน
- มีการจ้างงานมากกว่าเป็นจำนวน 97,379 คน และทำให้เกิดรายได้มากกว่าเป็นเงิน 33,880 ล้านบาท
- การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสร้างรายได้ให้กับรัฐในรูปแบบภาษีทางอ้อมเป็นเงิน 10,010 ล้านบาท ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ 55,769 ล้านบาท
ข้อนี้ดูแล้วการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอาจด้อยกว่า แต่หากคำนึงถึงมูลค่าเพิ่มโดยรวมของประเทศแล้วการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้สร้างมูลค่าเพิ่มหรือ GDP มากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเงิน 62,092 ล้านบาท
ทำให้สามารถอธิบายได้ในเชิงโครงสร้างของการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยคือ การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิง อาทิ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ที่เป็นต้นทุนหลักและมีมูลค่าสูง
ซึ่งการนำเข้านั้นถือเป็นส่วนรั่วไหล (Leakage) ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงสร้างมูลค่าเพิ่มหรือ GDP ได้น้อยเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่แทบไม่มีการนำเข้าเลย โดยการใช้วัตถุดิบในประเทศถือเป็นการสร้างตัวทวี (Multiplier) ในระบบการผลิตของประเทศ
ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตาราง REPTIO ไม่สามารถศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงขอวิเคราะห์จากสถิติปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าในประเทศและสถิติหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ผลิตได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบันของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2534 การผลิตไฟฟ้า 1 หน่วยได้ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 685.2 กรัม หลังจากนั้นรัฐได้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปของ เชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ แสงอาทิตย์ ลมและขยะ เข้ามาเสริมในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยลดลงตามลำดับ ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วยของประเทศได้ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเหลือเพียง 437.2 กรัมเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมพลังงานทดแทนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปีได้หลายล้านตันเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่ยังไม่มีการส่งเสริมพลังงานทดแทนดังกล่าวข้างต้น
หมายเหตุ; ข้อมูลปี ค.ศ. 2020 เป็นผลรวมเดือน มกราคม – ตุลาคม
ขอขอบคุณที่มาจาก นายกวี จงคงคาวุฒิ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม