skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
กลัวมั้ย!…“โอไมครอน” หลบเข้าไทยเจอ“ล็อคดาวน์”ทันที

กลัวมั้ย!…“โอไมครอน” หลบเข้าไทยเจอ“ล็อคดาวน์”ทันที

กลัวมั้ย!…“โอไมครอน”

หลบเข้าไทยเจอ“ล็อคดาวน์”ทันที

เพียงแค่ 9 วัน หลังจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ตรวจพบโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” กระทั่งถึงวันที่ 29 พ.ย. 2564 ข้อมูลจาก ศบค.รายงานว่า เกิดระบาดไปแล้ว 19 ประเทศทั่วโลก ดังนี้ ทวีปแอฟฟริกา ประกอบด้วย แอฟริกาใต้ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย และซิมบับเว ทวีปยุโรปมีเบลเยียม อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ส่วนทวีปเอเซียลามมาถึง ฮ่องกง อิสราเอล อีกทั้งยังมีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อใน ออสเตรเลีย และแคนาดา ด้วย

 

           

 

ขณะที่วันที่ 30 พ.ย. 2564 ญี่ปุ่น ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์พบผู้เดินทาง 2 คนจากโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ รอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินชางงี มุ่งหน้าไปซีดนีย์ติดเชื้อโอไมครอน ส่วนผู้โดยสาร 7 รายที่ลงเครื่องบินด้วยกัน มี 6 รายถูกสั่งให้กักตัวอยู่บ้าน 10 วัน ขณะที่รายที่ 7 เป็นผู้ติดต่อใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อบนเที่ยวบินถูกกักกันในสถานที่จำเพาะ

 

หากประมาณการผู้ติดเชื้อโอไมครอนทั่วโลกคาดว่ามีไม่น้อยกว่า 150 คน โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ประเทศเดียวมีมากกว่า 100 คน ส่วนประเทศบอตสวานา แหล่งค้นพบเชื้อประเทศแรกจำนวน 4 คนเมื่อ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นเป็น 19 คนเมื่อ 29 พ.ย. จึงสะท้อนเบื้องต้นได้ว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้แพร่ระบาดได้ง่าย รวดเร็ว มีหนามโปรตีนแพร่ขยายมากกว่า 32 ตำแหน่ง นั่นบ่งบอกว่า สามารถทะลุทะลวงเข้าร่างกายคนได้ง่ายกว่าพันธุ์เดลตาหลายเท่าตัว

 

ผลกระทบ

สำหรับสถานภาพของโอไมครอนในขณะนี้ WHO ปักป้ายไว้ที่ “ความน่ากังวล” ส่วนระดับรุนแรงและทำอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ได้แค่ไหน ยังต้องรอผลการศึกษาให้ชัดเจนอีกครั้งก่อนสรุป แต่ที่แน่ๆนั้น ตามข้อมูลที่ปรากฎในช่วง 9 วันหลังการค้นพบโอไมครอน แหล่งที่นำเชื้อแพร่กระจายไปทั่วโลกมาจากประเทศแอฟริกาใต้เป็นด้านหลัก และประเทศในทวีปแอฟริกาอื่นๆ เป็นด้านรอง คือ ตรวจพบว่ามีเชื้อ แต่ไม่มากจนสร้างความหวั่นวิตก

 

ปฎิกิริยาจากประเทศทั่วโลกเกิดขึ้นทันที่ โดยประเทศส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดงัดมาตรการสกัดเข้มข้น ตรวจตรา กักตัวเฝ้าระวังผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาและประเทศแอฟริกาใต้เป็นการเฉพาะเจาะจงใน 8 ประเทศ คือ นามิเนีย ซัมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โทซัมบิก แอฟริกาใต้ และมาลาวี อีกทั้งมีบางประเทศถึงกับใช้มาตรการเด็ดขาดปิดประเทศกันเลย เช่น ออสเตเลีย และญี่ปุ่น

 

มาตรการส่วนใหญ่ที่นำมาสกัดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ได้แก่อังกฤษ กลุ่มอียู ซึ่งมี 27 ประเทศและสหรัฐ ห้าม 8 ประเทศแอฟริกาเข้าประเทศ สำหรับแคนาดา สั่งห้ามไปถึงชาวต่างชาติที่เพิ่งเดินทางมาจากกลุ่มประเทศแฟริกาเข้าประเทศในช่วง 14 วัน

 

ส่วนมาตรการของกลุ่มเอเซียนั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน ห้ามนักท่องเที่ยวมา จากกลุ่มประเทศแอฟริกาเช่นกัน ขณะที่อิสราเอล เข้มข้นขึ้นอีกโดยห้ามคนอิสราเอลเดินทางไป 7 ประเทศแอฟริกา ขณะที่ญี่ปุ่นเมื่อพบเชื้อโอไมครอน 1 คนสั่งปิดประเทศทันทีตั้งแต่เที่ยงคืน 30 พ.ย.เป็นต้นไป

 

สำหรับไทย ที่กำลังเร่งโหมเปิดประเทศให้ 63 ประเทศมาเที่ยว ไม่กักตัว ก็ปรับตัวเช่นกัน พล.อ.ปรยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุเมื่อ 30 พ.ย.ว่า จะใช้มาตรการตรวจเชื้อโควิดเข้มข้นด้วยระบบ RT-PCR ตามเดิมเพราะได้ผลมากกว่าการตรวจแบบ ATK นั่นหมายความว่า ยกเลิกการตรวจเชื้อโควิดแบบ ATK

 

การตรวจหาเชื้อเฉพาะ RT-PCR นั้น จัดว่าเป็นมาตรการสกัดโอไมครอนของไทยที่ยกระดับขึ้นจากมาตรการอื่นๆที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว เช่น ห้ามนักท่องเที่ยวจากทวีปแอฟริกาในรูปแบบ Test & Go ห้ามเข้าไทย ส่วนมาแบบ Sandbok ไม่ให้เข้าไทยตั้งแต่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป หากมาแล้วตั้งแต่ 28 พ.ย.ต้องกักตัว 14 วัน พร้อมตรวจ RT-PCR 3 ครั้ง นอกจากนนี้ยังเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้ามาไทยตั้ง 15 พ.ย. 2564 จะมีเจ้าหน้าที่ติดตามคุมสังเกตอาการจนครบ 14 วัน

 

 

ไทยสุ่มเสี่ยงเผชิญหน้าโอไมครอน?

แม้ทั้งรัฐบาลและ ศบค.ยืนยันตรงกันเป็นมั่นเหมาะว่า ไทยยังไม่พบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แต่วงการสาธารณสุขยอมรับตรงกันว่า ไทยก็ยังไม่มีน้ำยาตรวจหาเชื้อโอไมครอนโดยตรง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจกับการให้ตรวจแบบ RT-PCR เพราะพอทำให้อุ่นใจกับการตรวจหาเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้บ้าง

 

เมื่อไทยขาดน้ำยาตรวจเชื้อโอไมครอนโดยตรงแล้ว เท่ากับเป็นช่องโหว่ที่จะทำให้เชื้อสายพันธุ์เล็ดลอดได้ค่อนข้างสูง ดังนั้น ช่องโหว่เช่นนี้จึงมีค่าเท่ากับ “ความสุ่มเสี่ยง” ที่ไทยต้องเผชิญหน้ากับการแอบแฝงหรือหลบซ่อนของเชื้อร้ายตัวใหม่นี้ เนื่องจากฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วยังสามารถหลบหลีกไม่แสดงอาการได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลตามคำประกาศของ WHO

 

หากพิจารณาความเสี่ยงเบื้องต้นแล้ว ควรพุ่งเป้าไปที่การเปิดประเทศในรอบเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากทวีปแอฟริกามีมากน้อยเพียงไร โดยข้อมูลจาก ศบค.จาก 1-27 พ.ย. มีผู้เดินทางชาวทวีปแอฟริกาเข้าไทยมากถึง 1,007 คน จาก 12 ประเทศ ซึ่ง 5 อันดับประเทศที่เข้ามามากที่สุดคือ แอฟริกาใต้ 826 คน เอธิโอเปีย 45 คน เอสวาตินี 39 คน เมอร์ริเชียล 27 คน และ แองโกลา 22 คน

 

เมื่อดูลึกลงไปเพื่อสกัดกลุ่มแอฟริกา 8 ประเทศที่ทั่วโลกสั่งห้ามเดินทางเข้าประเทศแล้ว พบว่า ในช่วงเปิดประเทศเกือบเดือนที่ผ่านมานั้น ผู้เดินทางจากประเทศเหล่านี้เข้าไทยมากถึง 901 คน ได้แก่ แอฟริกา 826 คน บอตสวานา 3 คน นามิเบีย 16 คน เอสวาตินี 39 คน มาลาวี 2 คน โมซัมบิก 12 คน และซิมบับเว 3 คน ดังนั้น ประเทศแอฟริกาเข้าไทยแล้ว 1,007 คน เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ถูกเฝ้าระวังจะแพร่กระจายเชื้อโอไมครอนมากถึง 901 คน สิ่งนี้คือ รูปธรรมความสุ่มเสี่ยงการเผชิญหน้ากับโอไมครอนของไทย ในยามที่น้ำยาตรวจหาเชื้อยังไม่พร้อม ดังนั้นการตรวจโดยอ้อมแบบ RT-PCR มีโอกาสไม่พบการแสดงอาการสูงอย่างยิ่งเช่นกัน

 

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุม ครม.เมื่อ 30 พ.ย. ถึงโควิดสายพันธุ์โอไมครอน โดยยอมรับว่า ขณะนี้ไทยยังไม่สามารถหายาหรือวัคซีนไปดักหน้าไวรัสกลายพันธุ์ได้ จึงจำเป็นต้องคงมาตรการการป้องกันด้านสาธารณสุขไปก่อน และติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมใกล้เข้ามา ก็จะมีการทบทวนมาตรการปิดต่อไป

 

“หากมีผู้ติดเชื้อโอไมครอน ไทยจะล็อกดาวน์ประเทศทันที เพราะเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีและต้องตัดสินใจเร็วที่สุด โดยใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.”นายสาธิต ย้ำถึงมาตรการเข้มข้น เด็ดขาดในขั้นตอนสุดท้ายสำหรับใช้ปราบสายพันธุ์โอไมครอนถ้าพบในไทย

 

แต่ขณะนี้จะพบโอไมครอนในไทยได้จากไหน นอกจากนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเสี่ยงจากแอฟริกานำพาเข้าไทยในช่วงการเปิดประเทศเกือบเดือน หรือรูปธรรมชัดเจนคือ ในจำนวน 901 คนที่มาจากประเทศทวีปแอฟริกาที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโดยเฉพาะ รวมทั้ง 1,007 คนที่มาจาก 12 ประเทศแอฟริกาเข้าไทย และสิ่งนี้คือ ข้อมูลที่เฝ้าติดตามและระวังตามการระบุของนายสาธิต ที่กล่าวถึงอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากแอฟริกาที่จะเข้ามาใหม่ได้ถูกมาตรการเด็ดขาดสกัดห้ามเข้าไทยเสียแล้ว

 

แม้วันนี้ ไทยยืนยันว่า ยังไม่มีเชื้อโควิดโอไมครอน แต่ในอนาคตยังไม่มีคำตอบชัดเจน และไม่มีใครยืนยันได้ เพราะความชัดเจนอยู่ที่การเฝ้าติดตามผู้เดินทางจากแอฟริกาที่อยู่ในไทย แล้วนำมากักตัว 14 วันตามมาตรการ นี่คือคือ การเผชิญหน้าราวกับโอไมครอนมุดอยู่ใต้ดินอะไรประมาณนั้น

 

การป้องกัน

เพราะโอไมกรอนเป็นสายพันธุ์ที่ไม่แสดงอาการออกมาชัดเจนและมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ คือ แม้ยังมีอาการรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ แต่ที่แตกต่างออกไปคือ ไม่ไอ ไม่มีผลกระทบเรื่องได้กลิ่นหรือรับรส

ดังนั้น ทางการแพทย์เน้นการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนให้ได้มากจึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการ และ WHO ก็กระตุ้นให้กระทำเช่นนี้ ข้อมูลเมื่อ 29 พ.ย. ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 92.6 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มหนึ่ง 48 ล้านโดส เข็มสอง 42.1 ล้านโดส และเข็มสาม 3.3 ล้านโดส หากพิจารณาเชิงตัวเลขรวมแล้ว จำนวน 92 ล้านโดสกับประชากรไทย 70 ล้านคนจัดว่า ฉีดวัคซีนได้มากมายอย่างน่าทึ่ง

 

 

แต่สายพันธุ์โอไมครอน ขณะที่ฉีดครบสองโดสแล้วยังเอาไม่อยู่ ส่วนไทยมีฉีดสองโดสกับเข็มสามเป็นการกระตุ้นรวม 45.4 ล้านโดส อยู่ในระดับประมาณกว่า 50% ของประชากร ซึ่งยังไม่ครบ 70% ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยเหตุนี้ ถ้าเผชิญโอไมครอนแล้ว จึงยากต่อการสกัดเอาอยู่ได้

 

ด้วยเหตุนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์มผ่านเฟซบุ๊กเตือนให้ระมัดระวังโควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยเน้นถึงการป้องกันด้วยตัวเองว่า เลี่ยงการเดินทางขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องโดยสารร่วมกับคนจำนวนมาก และการเดินทางที่ใช้เวลานาน ระหว่างการเดินทางจำเป็นต้องใส่หน้ากากเสมอ เลี่ยงการกินดื่ม เพราะต้องถอดหน้ากาก ระมัดระวังการใช้สุขา ปิดฝาก่อนกดชักโครก ล้างมือเสมอก่อนและหลังหยิบจับสิ่งของสาธารณะ

 

ขณะที่ ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ได้ชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโควิดของไทย แนะนำว่า เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ โอไมครอนมีหนามการเปลี่ยนแปลงมากกว่า 30 ตำแหน่ง การต้านทานด้วยการฉีดวัคซีนแบบสร้างภูมิต้านทานลูกผสม Hybrid Immunity น่าจะช่วยได้

 

“บ้านเรามีวัคซีนหลากหลายมาก การใช้วัคซีนแบบลูกผสม อาจจะดีต่อไวรัสกลายพันธุ์ก็ได้” ศ.นพ.ยง ทิ้งท้ายคำแนะนำ

 

โปรดสังเกตุ…ในคำแนะนำนั้น เมื่อพิจารณา มีรหัสภาษาแบบ “น่าจะ”…”อาจจะ”…”ก็ได้” ซึ่งรหัสภาษาเช่นนี้ล้วนเป็นการคาดเดาและยังไม่ได้ผ่านการทดสอบตามหลักวิทยศาสตร์การแพทย์ในระบบสาธารณสุขที่ทั่วโลกยึดถือ


 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top