“แอปเปิ้ลพันธุ์ฟูจิ” พืชเศรษฐกิจใหม่แดนอีสาน
ข้อมูลล่าสุดของการส่งออกสินค้าเกษตรและย้อนหลังในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนถึงความร่วงโรยของสินค้าภาคเกษตรกรรมอย่างน่าใจหาย ดังนั้น ในอนาคตประเทศไทยคงไม่มีความได้เปรียบใดๆและไม่มีประโยชน์ใดๆกับการแข่งขันส่งออกสินค้าราคาถูกในขณะที่ต้นทุนแพง และรายได้ที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับความเสื่อมโทรมของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ขณะที่เกษตรกรรายย่อยก็ไม่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างการส่งออกดังกล่าว
พืชเกษตรมูลค่าร่วงโรย
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ พบว่า มูลค่ารวมการส่งออกสินค้า 5 พืชเศรษฐกิจลดลงจาก 893,376 ล้านบาทในปี 2554 เหลือเพียง 537,151 ล้านบาทในปี 2563 ดังนั้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามูลค่าหดหายไปมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงอย่างน่าใจหายที่สุด คือ จาก 440,424 ล้านบาท เหลือเพียง 116,398 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่การส่งออกข้าวลดลงจาก 208,253 ล้านบาท เหลือ 151,052 ล้านบาท มันสำปะหลัง และอ้อย-น้ำตาลก็อยู่ในสภาพถดถอยอยู่ไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีเพียงผลไม้ที่การส่งออกเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดนจาก 56,218 ล้านบาท เป็น 141,131 ล้านบาท แซงหน้าการส่งออกมันสำปะหลังและข้าว กลายเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับหนึ่งแทน แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ การพึ่งตลาดจีนเป็นหลัก
ตัวเลขการส่งออกที่ลดวูบลง ยังคู่ขนานไปกับการใช้งบประมาณมหาศาลปีละเฉลี่ยกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถดำเนินกิจกรรมการผลิตต่อไปได้ บทเรียนในรอบหนึ่งทศวรรษนี้ชี้ชัดว่าหมดอนาคตของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ผลิตวัตถุดิบราคาถูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมแล้ว
ดังนั้น เกษตรกรรมเชิงนิเวศ การพัฒนาจากความได้เปรียบเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรม ความรู้และภูมิปัญญาของเกษตรกรรายย่อยเกี่ยวกับไม้ผลเมืองร้อน และนวัตกรรมจากฐานทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งรวมทั้งด้านพืชอาหารและสมุนไพร ระบบตลาดและโลจิสติกส์ที่ออกแบบใหม่สำหรับเกษตรกรรายย่อย-วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก คือกุญแจสำคัญของการปฏิวัติเกษตรกรรม เพื่อหลุดพ้นจากความร่วงโรยของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแบบเดิม
แอปเปิ้ล: พืชเศรษฐกิจใหม่ของอีสาน
สร้างความฮือฮาครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อต้นเมษายนนี้ จังหวัดมหาสารคาม เปิดตัวแอปเปิ้ลพันธุ์ฟูจิ มุ่งหวังให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของอีสาน อีกทั้งสร้างรายได้ทดแทนมูลค่าพืชการเกษตรที่ถดถอยลง
จังหวัดมหาสารคาม มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพภาคการเกษตรเหมือนจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยพืชเศรษฐกิจของมหาสารคามแต่ละปีมีมูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาท มาจากผลผลิตมันสำปะหลังประมาณ 4 แสนตันมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท อ้อยโรงงานผลผลิตกว่า 1.7 ล้านตัน มูลค่า 1.2 พันล้านบาท และจากข้าวผลผลิตกว่า 6.9 แสนตัน มูลค่ากว่า 6,900 ล้านบาท
อีกอย่าง พืชภาคเกษตรของจังหวัดมหาสารคามย่อมหลีกหนีได้รับผลกระทบจากราคาตกต่ำไปไม่พ้น ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าสินค้า จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตสินค้าเกษตร พัฒนาผลผลิตให้พืชเศรษฐกิจเมืองมหาสารคามมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
“อีสานจะปลูกแอปเปิ้ล”ฟังผ่านๆ แถบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่การนำนวัตกรรมทางพันธุกรรมมาปรับรูปให้แอปเปิ้ลซึ่งเป็นผลไม้เมืองหนาว สามารถปลูกได้ในพื้นดินอีสานที่ขึ้นชื่อในด้านความแห้งแล้ง ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว โดยปลูกและติดผลในจังหวัดบุรีรัมย์ และนครพนมเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในความไม่น่าเชื่อ “ส.ต.อ.อนุวัติ อินปลัด” ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดถั่งเช่า บ้านโนนสำราญ (เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช) ต.วังไชย อ.บรบือ จ.มหาสารคาม บอกว่า ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดถั่งเช่า มีโครงการพัฒนาสายพันธุ์แอปเปิ้ล “พันธุ์ฟูจิ” ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
แอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่ไทยนำเข้าประเทศแต่ละปีอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท และพันธุ์ที่นำเข้ามากที่สุดคือ พันธุ์ฟูจิ โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่มีผลไม้หลากหลายชนิด รสชาติโดดเด่น สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากมาพัฒนาการปลูกแอปเปิ้ลพันธุ์ฟูจิ โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามพัฒนาสายพันธุ์ให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการนำต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว นำยอดพันธุ์ที่สามารถปลูกในประเทศไทยได้มาพัฒนาต่อยอด
ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 2565 จะสามารถผลิตต้นแอปเปิ้ลพันธุ์ฟูจิให้ออกสู่ตลาดจำนวน 500,000 ต้น จากขณะนี้ได้สนับสนุนให้สมาชิกปลูกคนละ 10 ต้น มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ต้นละ 1,500 บาท จึงเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้น
สำหรับวิธีการปลูกลงดินควรจะให้ต้นอ่อนมีขนาดความสูง 20 เซนติเมตรก่อน ถึงอย่างนั้นก็เป็นพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ลำต้นดี แข็งแรง ปลอดเชื้อ มีการเจริญเติบโตได้ดี มีคุณภาพ สามารถผลิตได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
กลุ่มเกษตรกรเชื่อกันว่า ตลาดแอปเปิ้ลในปัจจุบันยังเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งในภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีการปลูกที่แพร่หลาย ทางกลุ่มจึงตั้งเป้าให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของจังหวัดมหาสารคาม คาดว่า สร้างรายได้ให้เกษตรกรและเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชนได้อย่างดี
แอปเปิ้ลฟูจิ: ผลไม้ยอดนิยม
แอปเปิ้ลพันธุ์ฟูจิ เป็นแอปเปิ้ลลูกผสมที่พัฒนาโดยนักวิจัยที่สถานีวิจัยโตโฮกุ ในฟูจิซากิ, อาโอโมริ, ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายทศวรรษ 1930 และได้นำออกสู่ตลาดในปี 1962 มีต้นกำเนิดมาจากการผสมข้ามระหว่างแอปเปิ้ลอเมริกันสองสายพันธุ์ คือ Red Delicious และ Virginia Ralls Genet
แอปเปิ้ลฟูจิเป็นหนึ่งในสายพันธุ์แอปเปิ้ลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากทั้งหมด 15 สายพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา โดยชื่อฟูจิ มาจากชื่อแรกของเมืองต้นกำเหนิดที่พัฒนาพันธุ์ขึ้นมา คือเมือง Fujisaki
โดยทั่วไปแล้ว ผลของแอปเปิ้ลฟูจิจะมีลักษณะกลมและมีขนาดตั้งแต่ใหญ่ไปจนถึงใหญ่มากโดยเฉลี่ยจะมีขนาดอยู่ที่ 75 มม. หรือ 7.5 เซนติเมตร
ผลจะมีปริมาณน้ำตาลอยู่ระหว่าง 9–11% โดยน้ำหนักและมีเนื้อที่แน่น หวานและกรอบกว่าแอปเปิ้ลหลายสายพันธุ์ ทำให้มันได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก แอปเปิ้ลฟูจิมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานมากเมื่อเทียบกับแอปเปิ้ลอื่น ๆ แม้ว่าจะไม่มีการแช่แข็งก็ตาม และหากทำการแช่แข็งแอปเปิ้ลฟูจิแล้วสามารถคงคุณภาพความสดใหม่ได้นานถึงหนึ่งปี
ในญี่ปุ่น แอปเปิ้ลฟูจิยังคงติดอันดับแอปเปิ้ลที่ขายดีอันดับ 1 ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นชื่นชอบเนื้อกรอบและความหวานของแอปเปิลฟูจิ นอกจากนี้ ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2016 แอปเปิ้ลฟูจิติดอันดับที่ 3 ของแอปเปิ้ลยอดนิยมจากการจัดอันดับของสมาคมแอปเปิลสหรัฐอเมริกา
ส่วนประเทศไทย นำเข้าแอปเปิ้ลแต่ละปีไม่ต่ำประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ อีสานพื้นดินที่แห้งแล้งอากาศร้อนจะกลายเป็นแหล่งปลูกแอปเปิ้ลพันธุ์ฟูจิที่ใช้นวัตกรรมตัดต่อเนื้อเยื้อ โดยมุ่งหวังจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ในอนาคต นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป รูปร่างใหม่ของแอปเปิ้ลพันธุ์ฟูจิจะปรากฎให้เห็นที่จังหวัดมหาสารคาม